ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (17 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า วิกฤตค่าเงินลีราของตุรกีจะส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารรายใหญ่ของอิตาลี
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.1% ปิดที่ 381.07 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,210.55 จุด ลดลง 26.62 จุด หรือ -0.22% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,344.93 จุด ลดลง 4.09 จุด หรือ -0.08% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,558.59 จุด เพิ่มขึ้น 2.21 จุด หรือ +0.03%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดอ่อนแรงลง เนื่องจากวิกฤตค่าเงินลีราของตุรกียังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาด โดยค่าเงินลีราลีราอ่อนค่าลงสู่ระดับ 6.2499 เทียบดอลลาร์เมื่อวานนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่สหรัฐจะทำการคว่ำบาตรตุรกีครั้งใหม่ หากตุรกีไม่ปล่อยตัวบาทหลวงแอนดรูว์ บรุนสัน
สำนักข่าวอนาโดลูของทางการตุรกีรายงานว่า ศาลอุทธรณ์ของตุรกีปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์ของบาทหลวงแอนดรูว์ บรุนสัน วัย 50 ปี ซึ่งต้องการได้รับการปล่อยตัว หลังจากที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในตุรกีเป็นเวลากว่า 2 ปี ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งสัญญาณเมื่อวานนี้ว่า เขาจะทำการคว่ำบาตรตุรกีครั้งใหม่ จนกว่าบาทหลวงบรุนสันจะได้รับการปล่อยตัว
ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราต่อธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ภาคธนาคารของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์
หุ้นธนาคารอิตาลีร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้น Banco BPM ร่วงลง 2.9% หุ้น Unione di Banche Italiane ดิ่งลง 3.5% และหุ้น UniCredit SpA ปรับตัวลง 0.5%