ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 150 จุดในวันนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า สหรัฐพร้อมที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2.67 แสนล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ดาวโจนส์ยังถูกกดดัน หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเกินคาด รวมทั้งตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงของแรงงานที่พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 9 ปี ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ เฟดจะประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 25-26 ก.ย. ซึ่งตลาดการเงินคาดการณ์กันว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ ก่อนที่จะปรับขึ้นอีกครั้งในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.และมิ.ย.
ณ เวลา 23.39 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,838.22 จุด ลดลง 157.65 จุด หรือ 0.61%
ปธน.ทรัมป์ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐพร้อมที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าจากจีนเมื่อใดก็ตามที่เขาต้องการ
ปธน.ทรัมป์กล่าว หลังจากผ่านพ้นกำหนดเส้นตายที่กำหนดไว้ในช่วงเที่ยงคืนวานนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือวันนี้เวลา 11.00 น.ตามเวลาไทย สำหรับการทำประชาพิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆของสหรัฐต่อมาตรการดังกล่าว หลังการเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐและจีนในวันที่ 22-23 ส.ค.ได้สิ้นสุดลง โดยไม่มีความคืบหน้าใดๆ ขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันคิดเป็นวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์
ส่วนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐและแคนาดาก็ยังคงไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ทั้งสองฝ่ายได้เปิดฉากการเจรจาอีกครั้งเมื่อวันพุธที่กรุงวอชิงตัน หลังจากที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่ปธน.ทรัมป์ระบุไว้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงมีความขัดแย้งกันในหลายประเด็น
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับการที่สหรัฐจะทำสงครามการค้ากับญี่ปุ่นเป็นประเทศต่อไป หลังจากที่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า ปธน.ทรัมป์เตรียมพุ่งเป้าแก้ไขปัญหาขาดดุลการค้าทวิภาคีกับญี่ปุ่น
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนส.ค. โดยเพิ่มขึ้น 201,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 191,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.9% ในเดือนส.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.8%
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 10 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.4% จากระดับ 0.3% ในเดือนก.ค. และเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2552 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.7%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 147,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับลดตัวเลขจ้างงานในเดือนมิ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 208,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 248,000 ตำแหน่ง
กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนส.ค. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 204,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานลดลง 3,000 ตำแหน่ง
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ลดลงสู่ระดับ 62.7%