ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงเช้านี้ หลังดาวโจนส์ร่วงกว่า 200 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 5, 2018 09:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงกว่า 200 จุดเมื่อคืน โดยได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสุงสุดในรอบ 7 ปี หลังจากประธานธนาคารสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 23,781.76 จุด ลดลง 193.86 จุด, -0.81% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 26,503.75 จุด ลดลง 120.12 จุด, -0.45% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,665.29 จุด ลดลง 53.62 จุด, -0.50% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,269.94 จุด ลดลง 4.55 จุด, -0.20% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,224.35 จุด ลดลง 7.24 จุด, -0.22% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,787.52 จุด ลดลง 2.59 จุด, -0.14% ส่วนตลาดหุ้นจีนปิดทำการเนื่องในวันชาติ

ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.232% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2554 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.375% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557

การพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรส่งผลให้นักลงทุนลดความต้องการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เช่นหุ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดมีส่วนผลักดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ รวมถึงจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 8,000 ราย สู่ระดับ 207,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2512 และยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐพุ่งขึ้น 2.3% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1%

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาตัวเลขเฉลี่ยค่าจ้างรายชั่วโมงอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวจะเป็นตัวบ่งชี้เงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ