ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง แต่ไม่ได้ดิ่งลงมากตามที่นักลงทุนมีความวิตกก่อนหน้านี้ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงลงในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ชะลอตัวลงในเดือนก.ย. ซึ่งช่วยลดคาดการณ์การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 20.49 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,552.73 จุด ลบ 46.01 จุด หรือ 0.18%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดิ่งลงในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนก.ย.
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังถูกกดดันจากการที่นักลงทุนหันมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางการทรุดตัวของตลาดหุ้นทั่วโลก
ณ เวลา 19.31 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.157% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปี อ่อนตัวลงสู่ระดับ 3.346%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค.
การเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดของดัชนี CPI มีสาเหตุจากการชะลอตัวของราคาค่าเช่า และพลังงาน
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนก.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 2.7% ในเดือนส.ค.
หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานขยับขึ้น 0.1% เมื่อเทียบรายเดือน โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 2.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.2% เช่นกันในเดือนส.ค.
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้นเมื่อวานนี้ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐ (PPI) ที่พุ่งขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดอาจเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีทำสถิติแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีสูงสุดในรอบ 7 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปีสูงสุดในรอบ 8 ปี
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ จึงทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยวานนี้ว่า ดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร, พลังงาน และภาคบริการ พุ่งขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. หลังจากขยับขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.
ราคาหุ้นของบริษัทเซียร์ส โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดังของสหรัฐ และเป็นเจ้าของห้างเซียร์ส และเคมาร์ท ดิ่งลงในวันนี้ หลังจากสื่อรายงานว่า บริษัทประสบความล้มเหลวในการเจรจาขอเงินกู้เพิ่มเติมจากธนาคารเจ้าหนี้ ขณะที่บริษัทใกล้ประสบภาวะล้มละลาย หลังจากที่ได้ดำเนินธุรกิจมานาน 125 ปี
ณ เวลา 20.35 น. ตามเวลาไทย ราคาหุ้นเซียร์สร่วงลง 3.1% สู่ระดับ 0.4715 ดอลลาร์
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า เซียร์สไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับธนาคารเจ้าหนี้เกี่ยวกับการขอเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป
วอลล์สตรีท เจอร์นัลระบุว่า ธนาคารเจ้าหนี้กำลังผลักดันให้เซียร์สเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เพื่อให้มีการขายทอดกิจการ และมีการชำระบัญชีเพื่อนำเงินมาชำระหนี้บริษัท โดยเซียร์สอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายล้มละลายอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 15 ต.ค. ขณะที่เซียร์สเตือนว่าบริษัทอาจผิดนัดชำระหนี้จำนวน 134 ล้านดอลลาร์ที่มีกำหนดชำระในวันดังกล่าว
วอลล์สตรีท เจอร์นัลยังรายงานว่า เซียร์สได้ว่าจ้างบริษัท M-III Partners เพื่อให้เข้ามาจัดเตรียมกระบวนการยื่นล้มละลาย
ข่าวการล้มละลายมีขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เซียร์สได้ประกาศปิดสาขาจำนวนหลายร้อยแห่งในสหรัฐ หลังประสบปัญหายอดขายดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 49 ปี
ทั้งนี้ จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 214,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 206,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2,500 ราย สู่ระดับ 209,500 รายในสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ย. มีจำนวนเพิ่มขึ้น 4,000 ราย อยู่ที่ระดับ 1.66 ล้านราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานอย่างต่อเนื่อง ลดลง 10,000 ราย สู่ระดับ 1.66 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2516