ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ เหตุนลท.ยังวิตกงบประมาณอิตาลี,จับตาเบร็กซิต

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 23, 2018 06:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (22 ต.ค.) ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องงบประมาณระหว่างอิตาลีกับสหภาพยุโรป (EU) รวมทั้งความพยายามของสหราชอาณาจักรในการออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิต (Brexit)

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.50 จุด หรือ -0.42% ปิดที่ 359.74 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,524.34 จุด ลดลง 29.49 จุด หรือ -0.26% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,053.31 จุด ลดลง 31.34 จุด หรือ -0.62% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,042.80 จุด ลดลง 7.00 จุด หรือ -0.10%

ด้านดัชนี FTSE MIB ตลาดหุ้นอิตาลี ปิดที่ 18,966.22 จุด ลดลง 113.94 จุด หรือ -0.60%

ในช่วงแรกของการซื้อขาย ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นแข็งแกร่งกว่า 4% ของตลาดหุ้นจีน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบสองปี หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของจีนหลายคนได้ทยอยออกมาแสดงความเห็นเชิงบวกเพื่อคลายความกังวลและฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาดการเงินและนักลงทุนในประเทศ ภายหลังจากที่จีนได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและตลาดหุ้นร่วงหนักเมื่อสัปดาห์ก่อน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกจากตลาดหุ้นจีนช่วยกระตุ้นแรงซื้อในตลาดหุ้นยุโรปได้เพียงไม่นาน เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองภายในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งด้านงบประมาณระหว่างอิตาลีกับสหภาพยุโรป โดยแหล่งข่าวเผยว่ามีความเป็นไปได้ที่ EU จะปฏิเสธข้อเสนองบประมาณของอิตาลี

รัฐบาลอิตาลีได้ส่งร่างงบประมาณแก่ EU ในคืนวันจันทร์ที่แล้ว โดยรัฐบาลอิตาลีต้องการเพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณสู่ระดับ 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีหน้า

ทั้งนี้ EU กำหนดให้ประเทศใน EU มีตัวเลขขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 3% ของ GDP อย่างไรก็ดี EU เรียกร้องให้อิตาลีดำเนินการไปสู่การมีงบประมาณสมดุล เนื่องจากอิตาลีมีหนี้ในภาครัฐจำนวนมาก

ทางฝั่งอิตาลี ล่าสุดได้ออกมาย้ำว่า งบประมาณของประเทศจะไม่กระทบเสถียรภาพการเงิน EU ระบุแผนการเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายภาคสาธารณะที่สูงขึ้นมากของประเทศนั้น จะไม่สั่นคลอนเสถียรภาพด้านการเงินของสหภาพยุโรป (EU)

นายจิโอวานนี เทรีย รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอิตาลี กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเดินหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจอิตาลีอีกครั้ง หลังจากที่อิตาลีต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันมาเป็นเวลานาน แม้ว่า งบประมาณดังกล่าวจะไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ EU ก็ตาม

ในจดหมายที่รมว.เศรษฐกิจอิตาลีส่งถึงคณะกรรมาธิการยุโรปนั้น ระบุว่า รัฐบาลได้พิจารณาเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจมหภาคและสังคมแล้ว และเห็นว่า งบประมาณมีความจำเป็นสำหรับการเร่งการขยายตัวของเศรษฐกิจ

พร้อมกับระบุว่า อิตาลีอาจจะมีการปรับเปลี่ยนแผนการณ์ดังกล่าวได้ หากการขยายตัวดีขึ้น และชี้ว่า รัฐบาลจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า เป้าหมายต่างๆที่ได้มีการกำหนดไว้นั้นได้มีการดำเนินการอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันว่าได้รับจดหมายของอิตาลีแล้ว และคาดว่า จะส่งคำร้องอย่างเป็นทางการให้อิตาลีส่งแผนงบประมาณมาให้อีกครั้งในวันอังคารนี้

ขณะเดียวกันตลาดจับตาการแถลงต่อสภาสามัญชนของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดในการนำสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หลังจากที่ได้เผยก่อนหน้านี้ว่า ข้อตกลงดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 95%

การแถลงการณ์ของนางเมย์ในวันจันทร์มีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันและสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศ โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีประชาชนเกือบ 700,000 รายได้ออกมาเดินขบวนในกรุงลอนดอน เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดลงประชามติเรื่องการถอนตัวของอังกฤษจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นครั้งที่ 2

เงินยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.14800 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1514 ดอลลาร์ในวันศุกร์ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบสามสัปดาห์ที่ 1.2968 ดอลลาร์ จาก 1.3066 ในวันศุกร์ ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองในภูมิภาคและในประเทศ

สำหรับเหตุการณ์ที่ตลาดจับตาในสัปดาห์นี้นั้น ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดี โดยนักลงทุนจะรอดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับลดการซื้อสินทรัพย์ในเดือนธ.ค.นี้

หุ้นเฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมทีฟ พุ่งเกือบ 3% หลังจากบริษัทเผยว่าจะขายธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับบริษัทของญี่ปุ่นเป็นวงเงิน 6.2 พันล้านยูโร

หุ้นไรอันแอร์ โฮลดิงส์ พุ่ง 4.3% หลังบริษัทสายการบินต้นทุนต่ำเผยกำไรสุทธิลดลง แต่ยอดขายเพิ่มขึ้น

หุ้นรอยัล ฟิลิปส์ ร่วง 8.7% หลังบริษัทเทคโนโลยีของเนเธอร์แลนด์รายงานกำไรสุทธิไตรมาสสามลดลง อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแยกธุรกิจหลอดไฟ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ