ตลาดหุ้นยุโรปปิดขยับขึ้นเมื่อคืนนี้ (8 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของธนาคารรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงธนาคารโซซิเอเต เจเนราล (ซอคเจน) นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ยังช่วยหนุนหุ้นบริษัทข้ามชาติดีดตัวขึ้นด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.2% ปิดที่ 367.08 จุด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,140.68 จุด เพิ่มขึ้น 23.40 จุด หรือ +0.33% ขณะที่ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,527.32 จุด ลดลง 51.78 จุด หรือ -0.45% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,131.45 จุด ลดลง 6.49 จุด หรือ -0.13%
ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นธนาคารรายใหญ่ โดยหุ้นซอคเจน พุ่งขึ้น 2.1% หลังจากธนาคารเปิดเผยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งถึง 32% ในไตรมาส 3 ขณะที่หุ้นคอมเมิร์ซ แบงก์ พุ่งขึ้นกว่า 4% หลังจากธนาคารได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลประกอบการในปีงบการเงิน 2562
หุ้นโคคา-โคลา เอชบีซี ซึ่งเป็นผู้ผลิตขวดน้ำอัดลมรายใหญ่ของยุโรป ทะยานขึ้น 4.2% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้เพิ่มขึ้น 2.6% ในไตรมาส 3
ส่วนหุ้นเฮงเคล ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ของเยอรมนี ดีดตัวขึ้น 0.76% ขณะที่หุ้นอัลลิอันซ์ และหุ้นอาดิดาส ต่างก็ปรับตัวขึ้นราว 0.7%
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ก่อนที่ตลาดจะรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการซื้อขายก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะแถลงมติการประชุม
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันหลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปในปีนี้และปีหน้า โดยระบุถึงผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้า และภาวะตึงตัวทางการเงิน
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปในปีนี้ที่ระดับ 2.3% จากระดับ 2.8% ในปีที่แล้ว และคาดว่าอยู่ที่ 1.9% ในปีหน้า
ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวต่ำกว่าที่ IMF ระบุในเดือนพ.ค. ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว 2.6% ในปีนี้ และ 2.2% ในปีหน้า
รายงานของ IMF ระบุว่า ปัจจัยภายนอกไม่ได้ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และคาดว่าจะอ่อนแอลงในปีหน้า จากปัจจัยอุปสงค์โลกชะลอตัว, การทำสงครามการค้า และการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน รวมทั้งภาวะตึงตัวทางการเงินในตลาดเกิดใหม่
อย่างไรก็ดี คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปจะยังคงอยู่สูงกว่าระดับศักยภาพ โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานและค่าจ้าง