ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นเกือบ 100 จุดในวันนี้ ขานรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นพลังงาน ขานรับราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้น รับข่าวกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ใกล้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันร่วมกับพันธมิตรนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งรวมถึงรัสเซีย
ณ เวลา 21.44 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,034.72 จุด เพิ่มขึ้น 87.05 จุด หรือ 0.35%
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนพ.ย. โดยเพิ่มขึ้นเพียง 155,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2512 และสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 6 เซนต์ หรือ 0.2% ในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนต.ค.
เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 3.1% เช่นเดียวกับในเดือนต.ค.
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวที่ต่ำกว่าคาดในเดือนพ.ย. จะทำให้เฟดคลายความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดจะจัดการประชุมในวันที่ 18-19 ธ.ค.นี้ ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 สำหรับปีนี้
CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีหน้า ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า
สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พุ่งขึ้นกว่า 4% ทะลุ 53 ดอลลาร์ในวันนี้ หลังมีข่าวว่า โอเปกใกล้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันร่วมกับพันธมิตรนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งรวมถึงรัสเซีย
ณ เวลา 21.19 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนม.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 2.23 ดอลลาร์ หรือ 4.33% สู่ระดับ 53.72 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันปรับตัวลงในช่วงแรก จากการที่นักลงทุนผิดหวังต่อผลการประชุมโอเปกเมื่อวานนี้ ซึ่งที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน จนกว่าจะมีการหารือกับรัสเซียในวันนี้
สื่อรายงานว่า สมาชิก 15 ชาติของโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 800,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้มีการปรับลดกำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน
ทั้งนี้ รัสเซียเห็นพ้องที่จะปรับลดการผลิตน้ำมัน 200,000 บาร์เรล/วัน โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 150,000 บาร์เรล/วันที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความในวันนี้ ระบุว่า "การเจรจาการค้ากับจีนกำลังดำเนินไปด้วยดี"
การทวีตดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความวานนี้ ระบุว่า "คณะเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายกำลังมีการหารือกันอย่างราบรื่น และมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยเราเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงภายในเวลา 90 วัน"