ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 500 จุดเมื่อคืนนี้ (7 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษานโยบายการค้าประจำทำเนียบขาวกล่าวว่า สหรัฐจะปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน หากทั้งสองประเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการเจรจาการค้าในช่วงเวลา 90 วัน โดยความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าได้สกัดปัจจัยบวกจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า หลังจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย.ของสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าคาด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,388.95 จุด ร่วงลง 558.72 จุด หรือ -2.24% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,633.08 จุด ลดลง 62.87 จุด หรือ -2.33% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,969.25 จุด ลดลง 219.01 จุด หรือ -3.05%
ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงทั้งสิ้น 4.5% ขณะที่ดัชนี S&P500 ลดลง 4.6% และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 4.9% โดยดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีปรับตัวลงรายสัปดาห์ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีนี้
ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เพิ่มความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนนั้น มาจากการที่นายปีเตอร์ นาวาร์โร ซึ่งเป็นที่ปรึกษานโยบายการค้าประจำทำเนียบขาวและมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีน ได้กล่าวแสดงความเห็นเมื่อวานนี้ว่า สหรัฐจะปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน หากสองประเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการเจรจาการค้าในช่วงเวลา 90 วัน
ในการเจรจานอกรอบการประชุม G20 ที่อาร์เจนตินาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เห็นพ้องกันให้เลื่อนกำหนดเวลาที่สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีกมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ออกไปอีก 90 วัน จากกำหนดเดิมในวันที่ 1 ม.ค.2562 เพื่อเปิดทางให้ทั้งสองฝ่ายได้เดินหน้าเจรจายุติข้อพิพาทการค้าระหว่างกัน
ทั้งนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นนั้น ได้สกัดปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้นเพียง 155,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2512 และสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อนั้น เพิ่มขึ้น 6 เซนต์ หรือ 0.2% ในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนต.ค.
CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีหน้า ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า
หุ้นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่เช่น วอลมาร์ทและทาร์เก็ต ซึ่งมีการลงทุนจำนวนมากในประเทศจีนนั้น ต่างก็ร่วงลงเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้า โดยหุ้นวอลมาร์ท ดิ่งลง 1.7% หุ้นทาร์เก็ต ร่วงลง 2.5% ขณะที่หุ้นเมซีส์ อิงค์ ร่วงลง 2.1% หุ้นนอร์ดสตรอม ดิ่งลง 2.6% หุ้นโคห์ล คอร์ป ร่วงลง 4.8% หุ้นโลว์ส ลดลง 1.7% หุ้นเบสท์ บาย ร่วงลง 2.7% และหุ้นอเมริกัน อีเกิล เอาท์ฟิทเทอร์ส ดิ่งลง 4.1%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง โดยหุ้นแอปเปิล ร่วงลง 3.56% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ดิ่งลง 2.9% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ร่วงลง 6.3% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 4% หุ้น Nvidia ร่วงลง 6.7% หุ้นไมครอน เทคโนโลยีส์ ร่วงลง 6.2% หุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ ร่วงลง 4.03% และหุ้นเฟซบุ๊ก ลดลง 1.6% และหุ้นอเมซอนดอทคอม ดิ่งลง 4.1%
หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลง แม้ราคาน้ำมันดิบ WTI ดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้หลังจากกลุ่มโอเปกและรัสเซียบรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตก็ตาม โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ลดลง 0.96% หุ้นเชฟรอน ลดลง 0.3% หุ้นอ็อคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม ลดลง 0.3% หุ้นเดวอน เอนเนอร์จี ร่วงลง 2% หุ้นมาราธอน ปิโตรเลียม ร่วงลง 3.1% และหุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ลดลง 0.4%
ส่วนหุ้นกลุ่มขนส่งร่วงลง หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นกว่า 2% เมื่อคืนนี้ โดยหุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ ร่วงลง 9.1% หุ้นเฟดเอ็กซ์ ดิ่งลง 6.4%
นักลงทุนจับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 18-19 ธ.ค.นี้ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 สำหรับปีนี้