ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (10 ธ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ดีดตัวขึ้นในช่วงท้ายของการซื้อขาย หลังจากหุ้นกลุ่มดังกล่าวร่วงลงตามราคาหุ้นแอปเปิลในช่วงแรก อันเนื่องมาจากข่าวที่ว่าศาลจีนได้ตัดสินให้บริษัทแอปเปิล อิงค์ แพ้คดีการละเมิดสิทธิบัตรของบริษัทควอลคอม อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนบวก แต่ตลาดถูกกดดันจากปัจจัยลบต่างๆในระหว่างวัน ซึ่งรวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และการที่รัฐบาลอังกฤษประกาศเลื่อนการลงมติในรัฐสภาต่อร่างข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างไม่มีกำหนด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,423.26 จุด เพิ่มขึ้น 34.31 จุด หรือ +0.14% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,637.72 จุด เพิ่มขึ้น 4.64 จุด หรือ +0.18% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,020.52 จุด เพิ่มขึ้น 51.27 จุด หรือ +0.74%
ดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนบวกเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในช่วงท้ายตลาด หลังจากหุ้นกลุ่มแอปเปิลฟื้นตัวขึ้นจากการถูกกระหน่ำขายในระหว่างวัน สืบเนื่องมาจากข่าวที่ว่า ศาลเมืองฟูโจวของจีนมีคำตัดสินให้บริษัทควอลคอม อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพรายใหญ่สำหรับสมาร์ทโฟน ชนะคดีฟ้องร้องบริษัทแอปเปิล อิงค์ กรณีละเมิดสิทธิบัตรของควอลคอม
อย่างไรก็ดี แอปเปิลระบุว่า คำสั่งศาลดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อ iPhone ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการแบบเก่า แต่ขณะนี้ iPhone ที่มีการจำหน่ายในตลาด มีการทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ iOS 12 ซึ่งไม่ได้มีการละเมิดสิทธิบัตรของควอลคอม
ทั้งนี้ แรงซื้อในช่วงท้ายตลาดช่วยหนุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดีดตัวขึ้น โดยหุ้นแอปเปิล ปิดตลาดขยับขึ้น 0.7% หุ้นเฟซบุ๊ก พุ่งขึ้น 3.2% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ เพิ่มขึ้น 1.7% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล เพิ่มขึ้น 0.6% หุ้น Nvidia พุ่งขึ้น 2.9% หุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ เพิ่มขึ้น 0.9% หุ้นอินเทล พุ่งขึ้น 2.1% หุ้นอเมซอนดอทคอม เพิ่มขึ้น 0.7%
หุ้นเทสลา ปรับตัวขึ้น 7% หลังจากนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาได้เปิดเผยเป้าหมายการผลิตรถยนต์รุ่น Model 3 จำนวน 5,000 คันต่อสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบจำนวนมากในระหว่างวัน ซึ่งรวมถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่รัฐบาลอังกฤษประกาศเลื่อนการลงมติในรัฐสภาต่อร่างข้อตกลง Brexit อย่างไม่มีกำหนด เพราะเกรงว่า ร่างข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวันนี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) รายงานเมื่อวันเสาร์ว่า ยอดส่งออกเดือนพ.ย.ขยายตัว 10.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงจากเดือนต.ค.ซึ่งขยายตัว 20.1% ขณะที่ยอดนำเข้าเดือนพ.ย.ขยายตัวเพียง 7.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงจากเดือนต.ค.ซึ่งขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 26.3%
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 หดตัวลง 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบกว่า 4 ปี เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายด้านการลงทุน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปี
หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงเนื่องจากความกังวลที่ว่า ความไม่แน่นอนของ Brexit อาจส่งผลกระทบต่อธนาคารายใหญ่ที่มีธุรกิจอยู่ในประเทศต่างๆ โดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ลดลง 0.8% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส ร่วงลง 1.9% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ดิ่งลง 2.2% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ร่วงลง 1.4% และหุ้นเวลส์ ฟาร์โก ร่วงลง 2.9%
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 18-19 ธ.ค. โดยมีการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 สำหรับปีนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้เช่นกัน ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (PPI) เดือนพ.ย., อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนพ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนธ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนธ.ค.จากมาร์กิต และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนต.ค.