ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 500 จุดในวันนี้ หลุดระดับ 23,000 จุด โดยได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่บริษัทแอปเปิล อิงค์ ประกาศปรับลดคาดการณ์รายได้ เนื่องจากยอดขาย iPhone ที่ชะลอตัวลงในจีน
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยภาคการผลิตของสหรัฐที่ซบเซาในเดือนธ.ค.
ณ เวลา 22.14 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 22,803.67 จุด ลดลง 542.57 จุด หรือ 2.32%
ราคาหุ้นแอปเปิล อิงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักทรัพย์จำนวน 30 หลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีดาวโจนส์ ร่วงลงเกือบ 9% ในการซื้อขายวันนี้ ขณะที่บริษัทโกลด์แมน แซคส์ออกรายงานเตือนว่า บริษัทแอปเปิลมีแนวโน้มที่จะประกาศปรับลดคาดการณ์รายได้ของทั้งปีงบการเงิน 2019 หลังจากที่บริษัทเพิ่งประกาศปรับลดคาดการณ์รายได้ประจำไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2019 ของบริษัทซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา
"เราคาดว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะปรับลดคาดการณ์รายได้ของทั้งปีงบการเงิน 2019 โดยขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของลูกค้าในจีนในช่วงต้นปี 2019 และเราไม่คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเดือนมี.ค." นายร็อด ฮอลล์ นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ระบุในรายงาน
ทั้งนี้ บริษัทแอปเปิล อิงค์ ประกาศปรับลดคาดการณ์รายได้ประจำไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2019 จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง 8.9-9.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงเหลือ 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าแอปเปิลจะมีรายได้อยู่ที่ 9.15 หมื่นล้านดอลลาร์
แอปเปิลระบุว่า การปรับลดคาดการณ์รายได้ดังกล่าวเป็นผลจากยอดขาย iPhone ที่ชะลอตัวลงในจีน นอกจากนี้ บริษัทยังระบุว่า อุปสงค์ของลูกค้าในประเทศอื่นก็ไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่บริษัทคาดการณ์ไว้
นายฮอลล์ปรับลดคาดการณ์ราคาหุ้นแอปเปิลในช่วง 12 เดือนข้างหน้า สู่ระดับ 140 ดอลลาร์ จากเดิมที่ 182 ดอลลาร์ และปรับลดคาดการณ์รายได้ของทั้งปีงบการเงิน 2019 ลง 6% สู่ระดับ 2.53 แสนล้านดอลลาร์ รวมทั้งปรับลดคาดการณ์กำไรต่อหุ้นลง 10% สู่ระดับ 11.66 ดอลลาร์ต่อหุ้น
ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 54.1 ในเดือนธ.ค. โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 57.9 หลังจากแตะระดับ 59.3 ในเดือนพ.ย.
ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยวานนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.8 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว จากระดับ 55.3 ในเดือนพ.ย.
การปรับตัวลงของดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่ โดยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ขณะที่การจ้างงานชะลอตัวสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนเช่นกัน ส่วนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2559
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 10,000 ราย สู่ระดับ 231,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 220,000 ราย
สำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 22 ธ.ค. มีจำนวนเพิ่มขึ้น 32,000 ราย สู่ระดับ 1.74 ล้านราย
ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้น 271,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. จากระดับ 157,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย.
การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐในเดือนธ.ค.ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2560 ซึ่งขณะนั้น ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 280,000 ตำแหน่ง
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าการจ้างงานภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นเพียง 178,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค.
นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 49 ปี
เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนพ.ย. โดยเพิ่มขึ้นเพียง 155,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2512 และสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้