ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พลิกดีดตัวในแดนบวกในวันนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศเปิดตัวโครงการปล่อยเงินกู้ครั้งใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน
ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงในช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนรอความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ณ เวลา 20.29 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 11 จุด หรือ 0.04% สู่ระดับ 25,677 จุด
ECB ประกาศเปิดตัวโครงการปล่อยเงินกู้ครั้งใหม่เพื่อช่วยเหลือภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่อในยูโรโซน
"ECB จะปล่อยเงินกู้รีไฟแนนซ์ระยะยาวรายไตรมาสครั้งที่ 3 (TLTRO-III) โดยเริ่มต้นในเดือนก.ย.2019 และสิ้นสุดในเดือนมี.ค.2021 โดยเงินกู้แต่ละงวดมีอายุ 2 ปี" แถลงการณ์จาก ECB ระบุ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญกับภาวะซบเซาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในอิตาลี, ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนมีการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีในปีที่แล้ว ส่วนในปีนี้ คาดว่าจะมีการขยายตัว 1.7% ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดว่ายูโรโซนจะมีการขยายตัวเพียง 1% ในปีนี้
นักลงทุนจับตาความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
แหล่งข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อให้สหรัฐและจีนสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้า เนื่องจากเขาหวังว่า การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดหุ้นทะยานขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของเขาในปีหน้า
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ปธน.ทรัมป์ต้องการให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้น ขณะที่เขาจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ซึ่งเขามองว่าการบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับจีนจะช่วยให้เขาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ปธน.ทรัมป์มีความกังวลว่าการไร้ข้อตกลงทางการค้ากับจีนจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น หลังจากที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นก่อนหน้านี้ จากการคาดการณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการเจรจาการค้า
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า สหรัฐอาจยกเลิกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกือบทุกรายการที่ได้บังคับใช้กับจีนตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยคาดว่าผู้นำของทั้งสองประเทศอาจจะบรรลุข้อตกลงการค้าอย่างสมบูรณ์ในการประชุมวันที่ 27 มี.ค.นี้
วอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุว่า สหรัฐและจีนอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการทำข้อตกลงการค้า โดยจีนเสนอที่จะปรับลดภาษีนำเข้า และผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการนำเข้าสินค้าเกษตร เคมีภัณฑ์ รถยนต์ และสินค้าอื่นๆจากสหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยวานนี้ว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีในปีที่แล้ว โดยจีนนับเป็นประเทศคู่ค้าที่สหรัฐขาดดุลการค้ามากที่สุด ตามมาด้วยเม็กซิโก, เยอรมนี และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ สหรัฐขาดดุลการค้า 6.210 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขขาดดุลการค้าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่ขาดดุลการค้า 5.523 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2560
สหรัฐขาดดุลกับประเทศคู่ค้ามากขึ้นในปีที่แล้ว แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พยายามใช้นโยบาย"อเมริกาต้องมาก่อน" และการทำสงครามการค้า เพื่อลดการขาดดุลดังกล่าว
สหรัฐขาดดุลการค้าต่อจีนพุ่งขึ้น 11.6% ในปีที่แล้ว แตะระดับ 4.192 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นอกจากนี้ สหรัฐขาดดุลต่อเม็กซิโกจำนวน 8.152 หมื่นล้านดอลลาร์, ขาดดุลต่อเยอรมนี 6.825 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ตัวเลขขาดดุลของสหรัฐต่อญี่ปุ่นลดลงในปีที่แล้ว โดยอยู่ที่ระดับ 6.763 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ตลาดยังรอการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า ในวันศุกร์นี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ขณะที่อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 3.9%
เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนม.ค. โดยเพิ่มขึ้น 304,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานดีดตัวสู่ระดับ 4.0% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.9%