ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุดในวันนี้ โดยถูกกดดันจากการทรุดตัวของหุ้นโบอิ้ง หลังเครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์เกิดอุบัติเหตุตกลงวานนี้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 157 ราย
ณ เวลา 20.47 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,340.94 จุด ลบ 109.30 จุด หรือ 0.43%
อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เช่น แอปเปิล และเฟซบุ๊ก
เนื่องจากดัชนีดาวโจนส์มีการคำนวณโดยถ่วงน้ำหนักตามราคาหุ้น ทำให้หุ้นที่มีราคาสูงในตลาด เช่น หุ้นโบอิ้ง มีอิทธิพลต่อดัชนีมากกว่าหุ้นที่มีราคาต่ำ
ณ เวลา 20.56 น.ตามเวลาไทย ราคาหุ้นโบอิ้งร่วงลง 40.80 ดอลลาร์ หรือ 9.66% สู่ระดับ 381.17 ดอลลาร์
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่ซบเซา และความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน และจีนเปิดเผยการส่งออกทรุดตัวลงในเดือนก.พ.
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับเวลาซื้อ-ขายหุ้นในตลาดวันนี้ โดยปรับเวลาเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง เนื่องจากเข้าสู่ช่วง Daylight Saving Time
ทั้งนี้ ตลาดเปลี่ยนแปลงเวลาซื้อขาย จากเดิม 21:30-04:05 น. ตามเวลาไทย เป็น 20:30-03:05 น.ตามเวลาไทย
การปรับเวลาตาม Daylight Saving Time ในสหรัฐปีนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม-4 พฤศจิกายน
สายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ ประกาศงดใช้เครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 หลังจากเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ขณะที่กรมการบินพลเรือนของจีน (CAAC) ก็ได้สั่งให้สายการบินภายในประเทศระงับการใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าว ส่วนกระทรวงคมนาคมของเกาหลีใต้ก็ได้เข้าตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องบินรุ่นนี้เช่นกัน
เครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ เที่ยวบิน ET 302 ได้เดินทางออกจากสนามบินนานาชาติแอดดิส อะบาบา เมื่อเวลา 08.38 น.ของวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงไนโรบี เมืองหลวงของประเทศเคนยา แต่เครื่องบินตกหลังจากขึ้นบินได้เพียง 6 นาที
อุบัติเหตุดังกล่าวนับเป็นโศกนาฎกรรมร้ายแรงครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่ขายดีที่สุดของโบอิ้ง หลังจากที่เครื่องบินรุ่นดังกล่าวของสายการบินไลอ้อนแอร์ ได้เกิดอุบัติเหตุตกลงนอกชายฝั่งอินโดนีเซียในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 189 ราย
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 20,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2560 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 180,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานร่วงลงสู่ระดับ 3.8% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.9%
นอกจากนี้ นักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังจาก ECB ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้ สู่ระดับ 1.1% จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้วว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.7%
ทางด้านนายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB กล่าวว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์, ภัยคุกคามจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความเปราะบางของตลาดเกิดใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญกับภาวะซบเซาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในอิตาลี, ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนมีการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีในปีที่แล้ว ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดว่ายูโรโซนจะมีการขยายตัวเพียง 1% ในปีนี้
ขณะเดียวกัน ตลาดยังถูกกดดันจากการส่งออกของจีนที่ทรุดตัวลง 20.7% ในเดือนก.พ.
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกจะทรงตัว หรือเพิ่มขึ้น 0% ในเดือนดังกล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังได้ปรับตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนธ.ค. โดยรายงานว่าดิ่งลง 1.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552 หลังจากที่รายงานก่อนหน้านี้ว่า ยอดค้าปลีกปลีกร่วงลง 1.2% ในเดือนธ.ค.
การเพิ่มขึ้นของยอดค้าปลีกในเดือนม.ค.ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของยอดขายวัสดุก่อสร้าง