ดัชนีดาวโจนส์พลิกพุ่งขึ้นกว่า 150 จุด หลังร่วงลงในช่วงแรก ขณะที่หุ้นโบอิ้งทะยานขึ้นนำตลาดวันนี้
ดัชนียังได้แรงหนุนจากความหวังเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการที่รัฐสภาอังกฤษมีมติขยายกำหนดเส้นตายการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ณ เวลา 22.51 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,863.35 จุด บวก 153.41 จุด หรือ 0.60%
ดัชนีดาวโจนส์มีแนวโน้มพุ่งขึ้น 1% ในสัปดาห์นี้
ราคาหุ้นของบริษัทโบอิ้งพุ่งขึ้นกว่า 1% ในวันนี้ หลังมีข่าวว่าทางบริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวซอฟต์แวร์ที่ใช้อัพเกรดเครื่องบินตระกูล 737 MAX ภายในเวลาอีกเพียง 10 วัน
ข่าวดังกล่าวสวนทางกับที่แบงก์ ออฟ อเมริการายงานวานนี้ว่า การที่บริษัทโบอิ้งทำการแก้ไขซอฟต์แวร์ของเครื่องบินตระกูล 737 MAX อาจต้องใช้เวลานานถึง 3-6 เดือน ในขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนสหรัฐ (FAA) ก็คาดการณ์เช่นกันว่า การอัพเกรดซอฟต์แวร์ดังกล่าว อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน
ราคาหุ้นโบอิ้งดิ่งลงกว่า 11% ก่อนหน้านี้ หลัง FAA ประกาศห้ามบินต่อเครื่องบินตระกูล 737 MAX ของโบอิ้ง หลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ ได้ตกลงหลังจากขึ้นบินได้เพียง 6 นาที จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 157 ราย
อุบัติเหตุดังกล่าวนับเป็นโศกนาฎกรรมร้ายแรงครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่ขายดีที่สุดของโบอิ้ง หลังจากที่เครื่องบินรุ่นดังกล่าวของสายการบินไลอ้อนแอร์ ได้เกิดอุบัติเหตุตกลงนอกชายฝั่งอินโดนีเซียในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 189 ราย
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐจะทราบในอีก 3-4 สัปดาห์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับจีน
"เราจะมีข่าวเกี่ยวกับจีน โดยเราจะรู้ในช่วง 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งถ้ามีการบรรลุข้อตกลงกับจีน ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้มีผู้กล่าวถึงไปอีกนาน" ปธน.ทรัมป์กล่าว
นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ยังระบุว่า จีนมีความรับผิดชอบ และมีเหตุผลอย่างมาก
สื่อรายงานว่า นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ โดยทั้งสองฝ่ายได้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาการค้า
รัฐสภาอังกฤษลงคะแนนเสียงท่วมท้นเมื่อวานนี้ เรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) ขยายกำหนดเวลาการแยกตัวออกไปจากเดิมในวันที่ 29 มี.ค.
ทั้งนี้ สมาชิกสภาสามัญชนของอังกฤษลงมติด้วยคะแนนเสียง 412-202 เสียง เรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเส้นตาย Brexit ออกไป 3 เดือน หรือจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. แต่ข้อเรียกร้องนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทาง EU
อย่างไรก็ดี การขยายกำหนดเส้นตายดังกล่าวอยู่บนเงื่อนไขที่ว่ารัฐสภาจะต้องให้ความเห็นชอบต่อข้อตกลง Brexit ที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 20 มี.ค.
หากรัฐสภายังคงมีมติคว่ำข้อตกลง Brexit ในวันที่ 20 มี.ค. รัฐบาลอังกฤษก็จะต้องขอการอนุมัติจาก EU เพื่อให้มีการขยายเวลาเส้นตาย Brexit ที่ยาวนานขึ้น
ทั้งนี้ EU จะจัดการประชุมสุดยอดในวันที่ 21-22 มี.ค. ซึ่งสมาชิกทั้ง 27 ชาติของ EU จะต้องให้ฉันทามติต่อการขยายกำหนดเส้นตาย Brexit ของอังกฤษ
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้นสู่ระดับ 7.6 ล้านตำแหน่งในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากอยู่ที่ระดับ 7.34 ล้านตำแหน่งในเดือนธ.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.31 ล้านตำแหน่งในเดือนม.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้น 201,000 ตำแหน่งในภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐเพิ่มขึ้น 59,000 ตำแหน่ง
ส่วนตัวเลขอัตราการลาออกจากงานโดยสมัครใจ ทรงตัวที่ระดับ 2.3%
ตัวเลขการลาออกจากงานโดยสมัครใจถือเป็นสิ่งบ่งชี้ความเชื่อมั่นของแรงงานที่คาดว่าจะสามารถหางานที่ให้ผลตอบแทนได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 โดยดีดตัวสู่ระดับ 97.8 ในเดือนมี.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 95.0 หลังจากแตะระดับ 93.8 ในเดือนก.พ.
ดัชนีดิ่งลงแตะระดับ 91.2 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2559
การดีดตัวของดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลบวกจากความเชื่อมั่นในกลุ่มภาคครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ เนื่องจากมองว่ามีสถานะการเงินที่ดีขึ้น จากการมีค่าจ้างที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ ฐานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล