ดาวโจนส์บวก เก็งเจรจาการค้าใกล้ปิดฉาก แต่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐกดดันตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 3, 2019 21:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นในวันนี้ โดยได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

อย่างไรก็ดี ช่วงบวกของดาวโจนส์ถูกจำกัดจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานในภาคเอกชนที่ซบเซา และดัชนีภาคบริการของสหรัฐที่ดิ่งลงในเดือนมี.ค.

ณ เวลา 21.39 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 26,221.03 จุด บวก 41.90 จุด หรือ 0.16%

ราคาหุ้นแคทเธอร์ พิลลาร์ร่วงลงกว่า 1% ในการซื้อขายวันนี้ หลังจากที่ดอยซ์แบงก์ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของบริษัท

ทั้งนี้ ดอยซ์แบงก์ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของแคทเธอร์ พิลลาร์สู่ระดับ "hold" จาก "buy" พร้อมกับปรับลดราคาเป้าหมายระยะ 12 เดือนของแคทเธอร์ พิลลาร์สู่ระดับ 128 ดอลลาร์ จากระดับ 152 ดอลลาร์

ดอยซ์แบงก์ระบุว่า แคทเธอร์ พิลลาร์จะได้รับผลกระทบจากการขยายตัวที่ซบเซาของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งจากการที่ตลาดสหรัฐเริ่มอิ่มตัวไปด้วยอุปกรณ์ และเครื่องจักรด้านการก่อสร้างจำนวนมาก

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส (FT) รายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐและจีนที่กำลังเจรจาข้อตกลงการค้า สามารถแก้ไขประเด็นสำคัญๆส่วนใหญ่แล้ว แต่ยังคงมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับวิธีการบังคับใช้ข้อตกลงดังกล่าว

FT ระบุว่า จีนต้องการให้สหรัฐยกเลิกภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าของจีนในขณะนี้ ขณะที่สหรัฐต้องการให้จีนตกลงกับเงื่อนไขของกลไกการบังคับใช้เพื่อรับประกันว่าจีนจะปฏิบัติตามข้อตกลง

FT รายงานว่า นายไมรอน บริลเลียนต์ รองประธานบริหารฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของหอการค้าสหรัฐเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ข้อตกลงแล้วเสร็จไป 90% แล้ว แต่ 10% สุดท้ายยังคงเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการเจรจา และจะต้องมีการแลกเปลี่ยนของทั้งสองฝ่าย

นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าและนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ มีกำหนดเริ่มการเจรจารอบใหม่กับนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน ในวันนี้ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายรายงานว่ามีความคืบหน้าในการเจรจาที่กรุงปักกิ่ง

FT รายงานว่า หากการเจรจาการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายประสบผลสำเร็จ ก็จะมีการจัดการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐและผู้นำจีน เพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงทำการลงนามในข้อตกลงการค้าอย่างเป็นทางการ

ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 56.1 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2560 และต่ำกว่าระดับ 59.7 ในเดือนก.พ.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 58.0 ในเดือนมี.ค.

การร่วงลงของดัชนีภาคบริการของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อใหม่

อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคบริการของสหรัฐยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ

ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่

ส่วนไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 55.3 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 56.0 ในเดือนก.พ.

การปรับตัวลงของดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่การจ้างงานต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2560 และภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นต่ำสุดในรอบ 15 เดือน

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคบริการของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า ในวันศุกร์นี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.8%

เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 20,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2560 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 180,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานร่วงลงสู่ระดับ 3.8% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.9%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ