ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นในวันนี้ ขานรับผลประกอบการของแอปเปิล อิงค์ และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี ช่วงบวกของตลาดถูกจำกัดจากการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตที่ซบเซาของสหรัฐ
ณ เวลา 21.53 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 26,632.41 จุด บวก 39.50 จุด หรือ 0.15%
ราคาหุ้นแอปเปิล อิงค์พุ่งขึ้นกว่า 6% ในวันนี้ ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าตลาดใกล้แตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หลังการเปิดเผยผลประกอบการที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ณ เวลา 21.24 น. ราคาหุ้นแอปเปิลพุ่งขึ้น 6.02% สู่ระดับ 212.75 ดอลลาร์ ทำให้แอปเปิลมีมูลค่าตลาด 9.79 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทมีหุ้นหมุนเวียนในตลาดจำนวน 4.6 พันล้านหุ้น
แอปเปิลเคยทำสถิติมูลค่าตลาดพุ่งทะลุหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว แต่หลังจากนั้น มูลค่าตลาดก็ได้ลดต่ำลง ขณะที่นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ของ iPhone โดยเฉพาะในจีน
ทางด้านออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้น ภาคเอกชนมีการจ้างงานพุ่งขึ้น 284,000 ตำแหน่ง
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าการจ้างงานของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเพียง 177,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย.
การจ้างงานในภาคบริการเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ส่วนภาคการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 52,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ โดยคาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25-2.50% ต่อไป แม้ถูกกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความ เรียกร้องให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1% และใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ครั้งใหม่ ซึ่งหากเฟดมีการผ่อนคลายนโยบาย เศรษฐกิจสหรัฐก็จะพุ่งขึ้นเหมือนจรวด
"จีนกำลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่รักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ แต่ธนาคารกลางของเรายังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่หยุดหย่อน แม้ว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาก และได้ใช้มาตรการคุมเข้มเชิงปริมาณ ที่จริงแล้ว เศรษฐกิจของเรามีศักยภาพที่จะพุ่งขึ้นเหมือนจรวด ถ้าเรามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% และใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยเศรษฐกิจของเราขยายตัวได้ดีที่ระดับ 3.2% ในไตรมาสแรก แต่จากการที่เรามีเงินเฟ้อต่ำ เราจะสามารถทำสถิติใหม่ และลดหนี้สินของประเทศลงได้" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 9 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2558 แต่เฟดได้ส่งสัญญาณไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้
นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัทยัม แบรนด์ส อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของพิซซ่า ฮัท, เคนตั๊กกี ฟรายชิกเก้น (KFC) และทาโก เบล รายงานกำไร และยอดขายสูงกว่าคาดในไตรมาสแรก ขณะที่รายได้สอดคล้องคาดการณ์
ยัมเปิดเผยว่า ทางบริษัทมีกำไร 82 เซนต์/หุ้น สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 81 เซนต์/หุ้น นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้ที่ระดับ 1.25 พันล้านดอลลาร์ สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ ขณะที่บริษัทมียอดขายพุ่งขึ้น 4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.66%
นักลงทุนยังจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยคณะเจรจาการค้าของสหรัฐและจีนได้เสร็จสิ้นการเจรจาการค้าที่กรุงปักกิ่งในวันนี้แล้ว ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือกันในรอบต่อไปในการเจรจาที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์หน้า
นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวว่า การเจรจาที่กรุงปักกิ่งเป็นไปอย่างสร้างสรรค์
ทั้งนี้ นายมนูชิน และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ได้เจรจาการค้าร่วมกับนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน ที่กรุงปักกิ่งในวันนี้ โดยการเจรจาครอบคลุมถึงประเด็นต่างๆ อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี อุปสรรคด้านการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ภาคบริการ การจัดซื้อ และการปฏิรูปโครงสร้าง
แหล่งข่าวระบุว่า ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง ได้แก่ การบังคับใช้กลไกตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลง และการกำหนดกรอบเวลาในการยกเลิกการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าของจีน ซึ่งทางจีนระบุว่า การบังคับใช้กลไกตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลง ควรจะเป็นการดำเนินการทั้งสองฝ่าย มิใช่การตรวจสอบจีนแต่เพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ สหรัฐยังกดดันจีนให้เปิดตลาดแก่บริษัทสหรัฐมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทำการปฏิรูปเศรษฐกิจ
รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับธนาคารและบริษัทประกันของจีน เปิดเผยในวันนี้ว่า รัฐบาลจะเปิดกว้างต่อภาคธนาคาร และประกันให้แก่ต่างชาติมากขึ้น
ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 52.8 ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 55.3 ในเดือนมี.ค.
การปรับตัวลงของดัชนี ISM ได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่, การผลิต และการจ้างงาน
อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ โดยดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 32 ติดต่อกัน