ดาวโจนส์ร่วงเกือบ 100 จุด หุ้นกลุ่มชิพดิ่งนำตลาด กังวลเศรษฐกิจจีนซบเซา

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 14, 2019 21:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงเกือบ 100 จุดในวันนี้ ขณะที่ตลาดถูกกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา และการร่วงลงของหุ้นกลุ่มชิพ

ณ เวลา 21.37 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 26,024.09 จุด ลบ 82.68 จุด หรือ 0.32%

ราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิพร่วงลงในวันนี้ หลังจากที่บริษัทบรอดคอม ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพในธุรกิจสื่อสาร เปิดเผยรายได้ต่ำกว่าคาดสำหรับไตรมาส 2 ของปีงบการเงินบริษัท ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 5 พ.ค. พร้อมกับปรับลดตัวเลขคาดการณ์รายได้สำหรับปีงบการเงินปัจจุบัน

ทั้งนี้ บรอดคอมระบุว่า บริษัทมีกำไรที่ระดับ 5.21 ดอลลาร์/หุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.16 ดอลลาร์/หุ้น

อย่างไรก็ดี บริษัทมีรายได้ที่ระดับ 5.52 พันล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.68 พันล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์รายได้สำหรับปีงบการเงินปัจจุบัน สู่ระดับ 2.250 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ระดับ 2.450 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.431 หมื่นล้านดอลลาร์

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 5% ในเดือนพ.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 17 ปี และชะลอตัวลงจากเดือนเม.ย.ที่มีการขยายตัว 5.4% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5.4%

บริษัทมอร์แกน สแตนลีย์เปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจประจำเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 32 จุด สู่ระดับ 13 หลังจากแตะระดับ 45 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดภายใน 1 เดือน และแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจได้ร่วงลงในทุกภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การจ้างงาน, แผนการลงทุนด้านทุน และความคาดหวังต่อภาวะธุรกิจ ต่างก็ปรับตัวลง

นอกจากนี้ ดัชนีย่อยภาวะธุรกิจภาคการผลิตทรุดตัวลงแตะระดับ 0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนดัชนีย่อยภาวะธุรกิจภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 18 จากระดับ 35 ในเดือนพ.ค.

อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินได้แรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่อ่อนแอของสหรัฐ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายราย ซึ่งรวมถึงนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ก็ได้ส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 18-19 มิ.ย.

อย่างไรก็ดี FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 79% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ค. และมีโอกาส 90% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. และมีโอกาส 97% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวในวันนี้ว่า ดัชนีดาวโจนส์จะพุ่งขึ้นอีก 10,000 จุด ถ้าหากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และไม่มีการใช้มาตรการคุมเข้มเชิงปริมาณ (QT)

ปธน.ทรัมป์ยังระบุว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 1.5% ถ้าหากเฟดใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์มักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของนายพาวเวล แม้ว่าปธน.ทรัมป์เป็นผู้เสนอชื่อนายพาวเวลเข้ารับตำแหน่งประธานเฟดในปีที่แล้ว

"เขาเป็นคนที่ผมเลือก และผมไม่เห็นด้วยกับเขาอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้เฟดมีความเป็นอิสระ แต่ผมก็ไม่พอใจต่อสิ่งที่เขาทำ" ปธน.ทรัมป์กล่าว

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6%

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเพิ่มตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนเม.ย.เป็นเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดิมที่ระดับ 0.2%

การดีดตัวขึ้นของยอดค้าปลีกในเดือนพ.ค.ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์

เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 3.2% ในเดือนพ.ค.

ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย.

ขณะเดียวกัน เฟดรายงานในวันนี้ว่า ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค

การผลิตของภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค. ส่วนภาคเหมืองแร่เพิ่มขึ้น 0.1% และภาคสาธารณูปโภคพุ่งขึ้น 2.1%

การเพิ่มขึ้น 0.2% ของการผลิตในภาคโรงงาน ถือเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในปีนี้ โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากหดตัวในเดือนม.ค., ก.พ. และเม.ย.

การปรับตัวขึ้นของการผลิตในภาคโรงงานได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์ และอะไหล่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ