ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง 333.75 จุด หลัง"พาวเวล"เมินส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีกในอนาคต

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 1, 2019 06:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงหนักสุดในรอบ 2 เดือนเมื่อคืนนี้ (31 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต แม้คณะกรรมการเฟดได้ตัดสินใจลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 11 ปี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดวันทำการล่าสุดที่ 26,864.27 จุด ร่วงลง 333.75 จุด หรือ -1.23% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ระดับ 2,980.38 จุด ลดลง 32.80 จุด หรือ -1.09% โดยทั้งดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ต่างก็ปิดร่วงลงในวันเดียวที่หนักที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.ปีนี้ ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,175.42 จุด ลดลง 98.19 จุด หรือ -1.19%

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติ 8-2 เสียงในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ตามคาด ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2551 โดยเฟดระบุว่าความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำของสหรัฐ เป็นสาเหตุสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ดี นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ของเฟดในการประชุมล่าสุดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการที่เฟดกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อปรับให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจ พร้อมกับกล่าวว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งในขณะนั้น เฟดได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนจากเดิมที่ตั้งใจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ไปสู่การใช้ท่าที"ที่มีความอดทน"

นายพาวเวลยังได้แถลงต่อสื่อมวลชนด้วยว่า "การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลงเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ เรามองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนนโยบายในช่วงกลางวัฏจักร ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ต่อเป้าหมายทั้งหมดของเฟด"

นักลงทุนผิดหวังต่อถ้อยแถลงดังกล่าวของนายพาวเวล เนื่องจากนายพาวเวลไม่ได้ให้การรับประกันว่าเฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต ขณะที่นักวิเคราะห์จากยูบีเอสกล่าวว่า แถลงการณ์ของคณะกรรมการ FOMC และถ้อยแถลงของนายพาวเวล ไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆที่แสดงให้เห็นว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต

ราคาหุ้นใน 11 กลุ่มหลักที่คำนวณในดัชนี S&P500 ร่วงลงทั้งหมด ซึ่งหุ้นกลุ่มสินค้าผู้บริโภคและกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงหนักสุด โดยหุ้นอเมซอนดอทคอม ดิ่งลง 1.67% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ลดลง 0.8% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ลดลง 0.9% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 2.9% หุ้นอินเทล ร่วงลง 2.2% หุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ ดิ่งลง 1.9%

ส่วนหุ้นในกลุ่มสินค้าผู้บริโภคที่ร่วงลงเมื่อคืนนี้ หุ้นไทสัน ฟู้ดส์ ดิ่งลง 2.25% หุ้นพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (P&G) ร่วงลง 2% หุ้นเป๊ปซี่โค ลดลง 2.05% หุ้นโคคา-โคลา ร่วงลง 2.03% หุ้นฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ดิ่งลง 3.12%

หุ้น Spotify ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่ง ปิดตลาดลดลง 0.17% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 2 ที่ระดับ 1.67 พันล้านยูโร สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.64 พันล้านยูโร แต่บริษัทมีจำนวนสมาชิกในระดับ Premium หรือสมาชิกที่มีการจ่ายค่าบริการ ในไตรมาส 2 ที่ระดับ 108 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 108.5 ล้านคน

หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวเซส (AMD) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพรายใหญ่ของโลก ดิ่งลง 10.10% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรในไตรมาส 2 ที่ระดับ 8 เซนต์/หุ้น สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

หุ้นเจเนอรัล อิเล็กทริก (GE) ปรับตัวลง 0.67% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ลดลง 4.3% ในไตรมาส 2

หุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 2.04% หลังจากแอปเปิลเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 3/2562 ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 29 มิ.ย.2562 ตามปีงบการเงินของบริษัท โดยระบุว่า รายได้เพิ่มขึ้น 1% สู่ระดับ 5.38 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.34 หมื่นล้านดอลลาร์

สำหรับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนรอบใหม่นั้น ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวานนี้ที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าทั้งสองฝ่ายมีความคืบหน้าในการยุติข้อพิพาทการค้าที่ยืดเยื้อมานานนับปี อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า การเจรจาการค้าครั้งนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยทั้งสองฝ่ายมีการหารือกันเกี่ยวกับการให้จีนซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐมากขึ้น และเห็นพ้องที่จะจัดการเจรจาครั้งต่อไปในเดือนก.ย.ที่สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 150,000 ตำแหน่ง

นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ค.ของสหรัฐซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 165,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 3.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนมิ.ย., ดุลการค้าเดือนมิ.ย., ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานมิ.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ