ดาวโจนส์พลิกร่วงกว่า 200 จุด หลัง"ทรัมป์"ขู่รีดภาษีจีนอีก 3 แสนล้านดอลลาร์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 2, 2019 01:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พลิกร่วงลงกว่า 200 จุด หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่เรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 10% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.

ณ เวลา 01.21 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 26,653.52 จุด ลบ 210.75 จุด หรือ 0.78%

ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความในวันนี้ ระบุว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 10% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนที่เหลืออีก 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.

"เจ้าหน้าที่ของเราเพิ่งกลับมาจากจีน หลังจากที่ได้เจรจาอย่างสร้างสรรค์เพื่อทำข้อตกลงการค้าในอนาคต เราคิดว่าเราสามารถทำข้อตกลงการค้ากับจีนได้เมื่อ 3 เดือนก่อน แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ว่า จีนได้ตัดสินใจที่จะทำการเจรจาใหม่ ก่อนที่จะมีการลงนาม และเมื่อไม่นานมานี้ จีนตกลงที่จะซื้อสินค้าเกษตรจำนวนมากจากสหรัฐ แต่ก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น นอกจากนี้ ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พูดว่า เขาจะยุติการจำหน่ายยา Fentanyl ให้แก่สหรัฐ แต่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงเสียชีวิต"

"การเจรจาการค้าจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งในระหว่างการเจรจา สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 10% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนที่เหลืออีกมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. และนี่จะไม่รวมสินค้าวงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งถูกเรียกเก็บภาษี 25% ก่อนหน้านี้"

"เราตั้งตารอที่จะสานต่อการเจรจาในเชิงบวกกับทางการจีนในการทำข้อตกลงการค้าอย่างเบ็ดเสร็จ และเรารู้สึกว่าอนาคตของประเทศของเราทั้งสองจะมีความสดใสเป็นอย่างมาก" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ

ก่อนหน้านี้ ดาวโจนส์ทะยานกว่า 300 จุด หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า ต่อเนื่องจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อวานนี้

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 61.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ย. จากเดิมที่คาดว่ามีแนวโน้มเพียง 51%

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 100% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย.

ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 51.2 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2559 จากระดับ 51.7 ในเดือนมิ.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.0

ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552 จากระดับ 50.6 ในเดือนมิ.ย.

ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการที่ภาคธุรกิจลดการจ้างงานเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2556 ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่หดตัวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน ส่วนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวลงเช่นกัน

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างของสหรัฐดิ่งลง 1.3% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว หลังจากลดลง 0.5% ในเดือนพ.ค.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมิ.ย.

เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างของสหรัฐลดลง 2.1% ในเดือนมิ.ย.

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 8,000 ราย สู่ระดับ 215,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 214,000 ราย

นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาตัวเลขการจ้างงานสหรัฐในวันพรุ่งนี้ โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 165,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 3.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 224,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานขยับขึ้นสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.6% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2512


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ