ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ปรับตัวแคบ หลังสหรัฐเผยตัวเลขจ้างงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 2, 2019 20:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ปรับตัวแคบในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ณ เวลา 20.19 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 2 จุด หรือ 0.01% สู่ระดับ 26,541 จุด

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 164,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 165,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับ 3.7% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี

สถิติในอดีตบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักปรับตัวย่ำแย่ในเดือนส.ค. ขณะที่ดัชนี S&P 500 ประเดิมปิดตลาดวานนี้ ซึ่งเป็นวันแรกในเดือนส.ค. ดิ่งลงเกือบ 1% ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก "Stock Trader's Almanac" ระบุว่า เดือนส.ค.ถือเป็นเดือนที่ไม่ถูกโฉลกสำหรับนักลงทุนในตลาด โดยนับตั้งแต่ปี 2493 เดือนส.ค.เป็นเดือนที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของปี รองจากเดือนก.ย.

โดยในช่วงเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงเฉลี่ย 0.1% ในเดือนส.ค. และร่วงลงเฉลี่ย 0.5% ในเดือนก.ย.

ตลาดการเงินเพิ่มคาดการณ์สู่ระดับเกือบ 100% ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่เรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนครั้งใหม่ รวมทั้งมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสถึง 95.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 17-18 ก.ย. จากระดับไม่ถึง 50% เมื่อวันพุธ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังเพิ่มการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ เป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ โดยมีแนวโน้ม 68.9% จากเดิมที่ระดับ 39%

ทางด้านนักวิเคราะห์ระบุเช่นกันว่า การที่ปธน.ทรัมป์ขู่เรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ จะเป็นปัจจัยทำให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้ เพื่อปกป้องเศรษฐกิจสหรัฐจากความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการค้า

ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความวานนี้ ระบุว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษี 10% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.

นายเบรตต์ ไรอัน นักวิเคราะห์จากดอยซ์แบงก์ ระบุว่า การประกาศของปธน.ทรัมป์ได้เพิ่มโอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมมากกว่า 0.75% ในปีนี้

ส่วนนายลู เบรียน นักวิเคราะห์จากดีอาร์ดับเบิลยู โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า หากปัญหาทางการค้าได้ลุกลามกลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ เฟดก็คงไม่สามารถรักษาแผนการเดิมที่จะจำกัดการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหม่ของเฟดจะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงการปรับนโยบายในช่วงกลางวัฏจักร แต่จะมีความจำเป็นในการป้องกันการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 51.2 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2559 จากระดับ 51.7 ในเดือนมิ.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.0

ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552 จากระดับ 50.6 ในเดือนมิ.ย.

ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการที่ภาคธุรกิจลดการจ้างงานเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2556 ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่หดตัวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน ส่วนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวลงเช่นกัน

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างของสหรัฐดิ่งลง 1.3% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว หลังจากลดลง 0.5% ในเดือนพ.ค.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมิ.ย.

เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างของสหรัฐลดลง 2.1% ในเดือนมิ.ย.

ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ด้านการค้าเกี่ยวกับสหภาพยุโรป (EU) ในวันนี้เวลา 13.45 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือคืนนี้เวลา 00.45 น.ตามเวลาไทย

อย่างไรก็ดี ทำเนียบขาวไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแถลงการณ์ดังกล่าว

ที่ผ่านมา รัฐบาลของปธน.ทรัมป์มีความขัดแย้งด้านการค้ากับ EU ในหลายประเด็น เช่น การเก็บภาษีรถยนต์, การซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐ รวมทั้งการที่ฝรั่งเศสมีแผนที่จะเก็บภาษีดิจิทัลต่อบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐ เช่น อเมซอน กูเกิล แอปเปิล และ เฟซบุ๊ก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ