ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐกับยุโรป รวมถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในสหรัฐ
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 21,422.22 จุด ลดลง 356.39 จุด, -1.64% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 25,831.44 จุด ลดลง 211.25 จุด, -0.81% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,866.50 จุด ลดลง 81.38 จุด, -0.74% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,076.08 จุด ลดลง 27.37 จุด, -0.88% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,571.96 จุด ลดลง 2.94 จุด, -0.19% ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,587.69 จุด ลดลง 22.99 จุด, -0.30%
ตลาดหุ้นจีนปิดทำการวันนี้เนื่องในวันชาติ และตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทำการวันนี้เนื่องในวันสถาปนาประเทศ
ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) ลงมติเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปวงเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากรัฐบาลในประเทศยุโรปให้การอุดหนุนบริษัทแอร์บัสอย่างผิดกฎหมาย พร้อมระบุว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ปฏิเสธที่จะดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการให้การอุดหนุนแอร์บัส หรือยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ โดยทำให้ยอดขายของเครื่องบินขนาดใหญ่ของสหรัฐทรุดตัวลงอย่างมาก
สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่า สหรัฐจะเริ่มดำเนินการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU ตามมติเห็นชอบของ WTO ในวันที่ 18 ต.ค.นี้ โดยจะเก็บภาษีเครื่องบินพลเรือนขนาดใหญ่ ในอัตรา 10% และเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้าเกษตรและสินค้าประเภทอื่นๆ ซึ่งได้แก่ วิสกี้, เสื้อผ้าชนิดต่างๆและผ้าห่ม, ข้าวมอลต์, กาแฟ, เครื่องจักร, ชีส, น้ำมันมะกอก, เนื้อแช่แข็ง, ผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู, เนย และโยเกิร์ต
ทางด้านนางเซซิเลีย มัลสตรอม ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า EU พร้อมจะตอบโต้สหรัฐ หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปตามคำตัดสินของ WTO
นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 135,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนส.ค.ที่มีการขยายตัว 157,000 ตำแหน่ง
ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2552 โดยดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ และเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 2