ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นกว่า 1,200 จุดเมื่อคืนนี้ (2 มี.ค.) ทำสถิติพุ่งขึ้นในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบเกือบ 11 ปี โดยได้แรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางทั่วโลกซึ่งรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ในการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบของไวรัสโควิด-19
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,703.32 จุด พุ่งขึ้น 1,293.96 จุด หรือ +5.09% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,090.23 จุด เพิ่มขึ้น 136.01 จุด หรือ +4.60% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,952.17 จุด เพิ่มขึ้น 384.80 จุด หรือ+4.49%
ดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติทะยานขึ้นเป็นเปอร์เซนต์ในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2552 ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq พุ่งขึ้นเป็นเปอร์เซนต์ในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2561
ตลาดหุ้นนิวยอร์ได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่า ธนาคารกลางทั่วโลกจะผนึกกำลังร่วมกับองค์กรชั้นนำอย่าง IMF และธนาคารโลก ในการออกมาตรการเพื่อรับมือกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดให้คำมั่นว่า เฟดจะใช้เครื่องมือและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อหนุนเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการแสดงความเห็นของนายพาวเวลทำให้นักลงทุนคาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค.นี้
ขณะที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยืนยันว่า BOJ จะใช้ความพยายามในทุกทางเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน ซึ่งรวมถึงการจัดหาสภาพคล่องอย่างเพียงพอ และสร้างความเชื่อมั่นว่าตลาดการเงินจะยังคงมีเสถียรภาพ
ทางด้านนายหลุยส์ เดอ กวินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เพิ่มความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และ ECB พร้อมที่จะออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว
ส่วน IMF และธนาคารโลก ได้ประกาศความพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งจะให้ความสนใจต่อประเทศยากจนที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอมากที่สุดและประชากรมีความเสี่ยงมากที่สุด โดย IMF และธนาคารโลกจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการให้เงินทุนฉุกเฉิน การให้คำปรึกษาด้านนโยบาย และการช่วยเหลือทางเทคนิค
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง นำโดยหุ้นแอปเปิล ทะยานขึ้น 9.3% หุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้น 6.6% หุ้นอินเทล พุ่งขึ้น 4.8% หุ้น Nvidia บวก 2.3% หุ้นเฟซบุ๊ก เพิ่มขึ้น 2% หุ้นอเมซอนดอทคอม พุ่งขึ้น 3.7% หุ้นอัลฟาเบท พุ่งขึ้น 3.5% หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดิไวซ์ (เอเอ็มดี) พุ่งขึ้น 4.3%
หุ้นเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) พุ่งขึ้น 3% หลังจากนักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนได้ปรับเพิ่มน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นจีอีขึ้นสู่ระดับ "overweight" จากระดับ "neutral"
หุ้น Gilead Sciences ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาต้านเอดส์รายใหญ่ของโลก พุ่งขึ้น 8.7% หลังจากทางบริษัทประกาศแผนเข้าซื้อกิจการของ Forty Seven Inc ซึ่งเป็นผู้ผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ขณะที่ข่าวดังกล่าวช่วยหนุนราคาหุ้น Forty Seven Inc ทะยานขึ้น 62%
หุ้นเทสลา พุ่งขึ้น 11.3% เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อหลังจากราคาหุ้นเทสลาร่วงลงติดต่อกัน 5 วันทำการก่อนหน้านี้ อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างพุ่งขึ้น 1.8% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนธ.ค. ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.1 ในเดือนก.พ. จากระดับ 50.9 ในเดือนม.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.พ.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนก.พ.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 4/2562, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนม.ค., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ., ยอดนำเข้า,ส่งออก และดุลการค้าเดือนม.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนม.ค.