ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทรุดตัวลงกว่า 1,400 จุดเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) โดยตลาดเข้าสู่ "ภาวะหมี" เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า ไวรัสโควิด-19 ได้เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ล่าช้าในการแถลงรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,553.22 จุด ลดลง 1,464.94 จุด หรือ -5.86% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,741.38 จุด ลดลง 140.85 จุด หรือ -4.89% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,952.05 จุด ลดลง 392.20 จุด หรือ -4.70%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลงอย่างหนักหลังจาก WHO ออกแถลงการณ์ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ได้เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดไปทั่วโลก หลังมีการลุกลามไปยังหลายประเทศในภูมิภาคต่างๆ
นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวว่า "ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนได้เพิ่มขึ้นถึง 13 เท่า และจำนวนประเทศที่ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนในช่วงหลายวันและหลายสัปดาห์ข้างหน้า เราคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และจำนวนประเทศที่ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้นอีก"
ถ้อยแถลงดังกล่าวได้สร้างความวิตกกังวล และได้ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กเข้าสู่ภาวะหมีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 โดยสัญญาณที่บ่งชี้ถึงภาวะตลาดหมีคือเมื่อดัชนีตลาดหุ้นดิ่งลง 20% จากระดับปิดสูงสุดที่เคยทำไว้เมื่อไม่นานนี้
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่คณะทำงานของปธน.ทรัมป์ล่าช้าในการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ก่อนหน้านี้ ปธน.ทรัมป์ประกาศว่าเขาจะออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการปรับลดภาษีเงินเดือน และมาตรการเร่งด่วนอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
หุ้นโบอิ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 30 หลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีดาวโจนส์ ร่วงลง 18.15% หลังจากมีรายงานว่า โบอิ้งวางแผนที่จะขอเบิกเงินกู้ทั้งหมด 1.3825 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันศุกร์นี้ ซึ่งเป็นการขอเบิกเงินกู้ที่เร็วกว่าที่ทางบริษัททำสัญญาไว้กับธนาคารเจ้าหนี้
ส่วนหุ้นบริษัทอื่นๆที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ในการคำนวณดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงหุ้นแอปเปิล ดิ่งลง 3.47% หุ้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ร่วงลง 6.9% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 6.7% หุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ ร่วงลง 7.5% หุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ ปรับตัวลง 5.4% หุ้นเชฟรอน ลดลง 2.3% หุ้นยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์ ดิ่งลง 9.9% หุ้นไฟเซอร์ ร่วงลง 7% หุ้นไมโครซอฟต์ ลดลง 4.5%
หุ้นวอลมาร์ท ดิ่งลง 4.5% หลังจากมีรายงานว่า พนักงานคนหนึ่งของห้างวอลมาร์ทในรัฐเคนตักกี้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
หุ้นเป๊ปซี่โค ร่วงลง 3.3% หลังจากเป๊ปซี่โคประกาศเข้าซื้อกิจการบริษัทร็อคสตาร์ เอนเนอร์จี เบเวอเรจ ด้วยข้อตกลงวงเงิน 3.85 พันล้านดอลลาร์
หุ้นไนกี้ ดิ่งลง 4.9% เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อยอดขายของไนกี้ในประเทศจีน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% เช่นกันในเดือนม.ค. ขณะที่สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองพุ่งขึ้น 55.4% ในสัปดาห์ที่แล้ว หลังการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.พ., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนก.พ. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้ม 55.7% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมครั้งนี้ จากระดับ 1.00-1.25% สู่ระดับ 0.00-0.25% และมีแนวโน้ม 44.3% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 0.25-0.50%