ดัชนีดาวโจนส์ร่วงกว่า 100 จุดในวันนี้ โดยยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากทรุดตัวลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้
นอกจากนี้ การซื้อขายยังถูกกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐที่พุ่งสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง
ณ เวลา 21.11 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 19,789.61 จุด ลบ 109.31 จุด หรือ 0.55%
ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลงกว่า 1,300 จุดเมื่อคืนนี้ โดยตลาดดิ่งลงอย่างหนักจนทำให้ต้องใช้ระบบ circuit breaker เพื่อพักการซื้อขายเป็นเวลา 15 นาที เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี ดัชนีดาวโจนส์สามารถฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดของวัน หลังจากวุฒิสภาสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
แหล่งข่าวระบุว่า ทำเนียบขาวกำลังพิจารณาการจำหน่ายพันธบัตรอายุ 25 ปี และ 50 ปี เพื่อนำรายได้มาสนับสนุนโครงการต่างๆตามมาตรการเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในกฎหมาย "Families First Coronavirus Response Act" หลังจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐได้ลงมติสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างท่วมท้น
กฎหมายดังกล่าว ซึ่งคาดว่ามีวงเงินสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ครอบคลุมถึงมาตรการแจกเงินสดแก่ชาวอเมริกันวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์ และมาตรการสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมการบินวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานจากผลกระทบของโควิด-19 และให้ชาวอเมริกันสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างที่ลาป่วยจากการติดเชื้อดังกล่าว
ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า เฟดได้ร่วมมือกับธนาคารกลางหลายแห่งในการเพิ่มสภาพคล่องของดอลลาร์ทั่วโลกผ่านทางการทำข้อตกลงสว็อประหว่างธนาคารกลางดังกล่าว
ทั้งนี้ เฟดประกาศข้อตกลงสว็อปกับธนาคารกลางของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บราซิล เดนมาร์ก เม็กซิโก นอร์เวย์ สวีเดน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ โดยข้อตกลงสว็อปดังกล่าวจะมีอายุ 6 เดือน
ข้อตกลงสว็อปที่เฟดทำไว้กับธนาคารกลางทุกแห่งจะมีวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ยกเว้นข้อตกลงของธนาคารกลางเดนมาร์ก นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ จะมีวงเงินแห่งละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์
การดำเนินการของเฟดในครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่เฟดได้ทำข้อตกลงสว็อปกับธนาคารกลางยุโรป รวมถึงธนาคารกลางจากอังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนหน้านี้ เพื่อป้องกันภาวะตึงตัวของดอลลาร์ หลังจากที่นักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้น 70,000 ราย สู่ระดับ 281,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2560 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 220,000 ราย
การพุ่งขึ้นของตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจแห่ปลดพนักงาน ท่ามกลางผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 16,500 ราย สู่ระดับ 232,250 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2561