ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งกว่า 200 จุดในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ
ณ เวลา 21.23 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 24,382.54 จุด ลบ 251.32 จุด หรือ 1.02%
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดิ่งลงในวันนี้ แต่เมื่อพิจารณาการปรับตัวของดัชนีดาวโจนส์ตลอดทั้งเดือนนี้ พบว่าพุ่งขึ้น 11% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 เดือนนับตั้งแต่ปี 2530 ขณะที่ดัชนี S&P 500 ทะยานขึ้นมากกว่า 12% ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 เดือนนับตั้งแต่ปี 2530 เช่นกัน
การพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นในเดือนนี้ได้รับแรงหนุนจากความหวังเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผลิตยารักษาโรคโควิด-19
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 3.84 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5 ล้านราย
ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานโดยรวมพุ่งขึ้นสู่ระดับ 30.3 ล้านราย นับตั้งแต่ที่สหรัฐประกาศล็อกดาวน์ในรัฐต่างๆในช่วงครึ่งหลังของเดือนมี.ค.เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสหรัฐต้องปิดตัวลงอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19
นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่เศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นเร็วเพียงใด จะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้คำมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่ในการสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐเพื่อให้มีการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา
นอกจากนี้ เฟดเตือนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังคงกดดันเศรษฐกิจสหรัฐในระยะใกล้ และสร้างความเสี่ยงในระยะกลาง
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลง 7.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2502 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 5.1%
การใช้จ่ายของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปิดร้านค้าต่างๆ ส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก และฉุดอุปสงค์ในการใช้จ่ายสินค้า
หากปรับค่าตามเงินเฟ้อ การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลง 7.3% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลลดลง 2% ในเดือนมี.ค. ขณะที่ตัวเลขค่าจ้างและเงินเดือนร่วงลง 3.1%
ส่วนอัตราการออมพุ่งขึ้นสู่ระดับ 13.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 39 ปี จากระดับ 8% ในเดือนก.พ.