ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดีดตัวขึ้นกว่า 100 จุดในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปรับตัวขึ้นในคืนนี้ ขานรับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของสหรัฐ รวมทั้งความคืบหน้าในการผลิตยาและวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
ณ เวลา 20.07 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 126 จุด หรือ 0.53% สู่ระดับ 23,887 จุด
หุ้นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง ได้ปรับตัวขึ้นในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดวันนี้
นายแอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เปิดเผยว่า รัฐนิวยอร์กจะเริ่มเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยจะมีการเปิดเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนนายเกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศว่า รัฐแคลิฟอร์เนียจะอนุญาตให้ธุรกิจค้าปลีกบางส่วนกลับมาเปิดบริการอีกครั้งในสัปดาห์นี้ ขณะที่นายเจย์ อินสลีย์ ผู้ว่าการรัฐวอชิงตัน ประกาศแผน Safe Start ซึ่งจะเปิดทางให้รัฐวอชิงตันสามารถทยอยเปิดเศรษฐกิจได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ รัฐอลาสกา, จอร์เจีย, เซาธ์ แคโรไลนา, เทนเนสซี และเท็กซัส ก็ได้เริ่มให้ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการแก่ลูกค้า
ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนหลังจากที่ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้เริ่มทำการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในคนในสหรัฐแล้ว และทางบริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนหลายล้านโดสภายในปลายปีนี้
อย่างไรก็ดี ช่วงบวกของดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ถูกจำกัดจากการดิ่งลงของราคาน้ำมันในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐที่ทรุดตัวลงในเดือนเม.ย.
ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐลดลง 20,236,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นภาวะการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 2545 แต่ยังดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 22,000,000 ตำแหน่ง หลังจากลดลง 149,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค.
การดิ่งลงของตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก
การจ้างงานในภาคบริการลดลงมากกว่า 16 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ส่วนการจ้างงานในภาคการผลิตลดลง 4.3 ล้านตำแหน่ง
ก่อนหน้านี้ การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐทำสถิติย่ำแย่ที่สุดในเดือนก.พ.2552 ท่ามกลางวิกฤตการเงิน ซึ่งตามมาด้วยการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ส่งผลให้การจ้างงานลดลง 834,665 ตำแหน่ง
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในวันศุกร์นี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรดิ่งลง 21.5 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 16%
เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 701,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.2553 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 10,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2560 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% หลังจากแตะระดับ 3.5% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี