ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 500 จุด โดยปรับตัวลงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงในช่วงขาลง
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเกิดความตื่นตระหนก หลังจากที่นายเดวิด เทปเปอร์ ซึ่งเป็นนักลงทุนประเภทมหาเศรษฐีพันล้าน และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแอปปาลูซา แมเนจเมนท์ กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมีมูลค่าสูงเกินความเป็นจริงอย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน
ณ เวลา 23.21 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 23,196.48 จุด ลบ 568.30 จุด หรือ 2.39%
นายเทปเปอร์กล่าวว่า "ตลาดหุ้นมีมูลค่าสูงเกินจริงมากเป็นอันดับสองเท่าที่ผมเคยเห็นมา ซึ่งเป็นรองเพียงในปี 1999 โดยตลาดมีมูลค่าสูงมาก ขณะที่เฟดได้อัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าตลาด"
ทั้งนี้ ค่า Forward P/E ratio อิงตามการประเมินสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้าพุ่งขึ้นเหนือระดับ 20 เท่า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2002
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความในวันนี้ เตือนว่า นักลงทุนประเภทมหาเศรษฐีบางคนได้ทำการปั่นหุ้น ด้วยการกล่าวแสดงความเห็นที่ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนก
"เมื่อคนรวยพูดถึงข่าวร้ายในตลาด คุณต้องรู้ว่าพวกเขากำลังเก็งกำไรครั้งใหญ่เพื่อหวังทำเงินจำนวนมากหากหุ้นตก และต่อมาพวกเขาจะพูดถึงเรื่องดีเพื่อดันราคาหุ้นขึ้น พวกเขาทำเงินได้ทั้งสองทาง นี่เป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือไม่" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
แม้ปธน.ทรัมป์ไม่ได้ระบุว่านักลงทุนดังกล่าวคือใคร แต่การส่งทวิตเตอร์ในวันนี้ของปธน.ทรัมป์มีขึ้น หลังจากที่นายสแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์ ซึ่งเป็นผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ กล่าวแสดงความเห็นเมื่อวานนี้ว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นมีมูลค่าเกินความเป็นจริงมากเป็นประวัติการณ์
นายดรักเคนมิลเลอร์ยังกล่าวว่า ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมากเกินไปต่อข่าวความคืบหน้าของการผลิตยา remdesivir ซึ่งเป็นยาแอนตี้ไวรัสของบริษัท Gilead Sciences ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19
นอกจากนี้ นักลงทุนรายใหญ่อีกรายที่มักแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตลาดหุ้นคือ นายบิล แอคแมน ผู้จัดการบริษัทเพอร์ชิง สแควร์ ซึ่งได้กล่าวให้สัมภาษณ์ในวันที่ 18 มี.ค.ว่า "นรกกำลังมาเยือน" และเรียกร้องให้ทำเนียบขาวปิดประเทศสหรัฐเป็นเวลา 1 เดือน โดยนายแอคแมนสามารถทำกำไรมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์หลังจากกล่าวให้สัมภาษณ์ดังกล่าว
ทางด้านนายพาวเวลระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะขึ้นอยู่กับคำถามมากมายเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 เช่น จะใช้เวลานานเท่าใดก่อนที่จะมียารักษา และการยกเลิกมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่หรือไม่ รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคจะกลับมาเมื่อใด
"เนื่องจากเรายังไม่มีคำตอบต่อคำถามเหล่านี้ เราจึงต้องจัดเตรียมนโยบายในการรับมือกับผลลัพธ์ที่หลากหลาย" นายพาวเวลกล่าวในการเสวนาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน (PIIE) ในวันนี้
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก หากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ในช่วงแรกของการเสวนา นายพาวเวลระบุว่า เฟดอาจต้องใช้เครื่องมือด้านนโยบายเพิ่มเติมเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่มีจำนวนผู้ตกงานมากกว่า 20 ล้านคนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือด้านนโยบายดังกล่าว
นอกจากนี้ นายพาวเวลยังระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่แตกต่างจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สหรัฐเคยเผชิญในอดีต และสภาคองเกรสควรจะมีบทบาทมากขึ้นในการรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวมากกว่าเฟด ด้วยการใช้มาตรการทางภาษี และการใช้จ่ายของรัฐ
ขณะเดียวกัน นายพาวเวลกล่าวยืนยันว่า แม้เฟดใช้เครื่องมือด้านนโยบายจนหมดในการรับมือกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่เครื่องมือหนึ่งที่เฟดจะไม่เข้าไปแตะคือการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ
"ผมรู้ว่ามีผู้ที่ต้องการให้เฟดใช้นโยบายดังกล่าว แต่ขณะนี้สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำการพิจารณา โดยเราคิดว่าเรายังมีเครื่องมือที่ดีที่เราจะใช้ได้" นายพาวเวลกล่าว
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ดิ่งลง 1.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.2% ในเดือนมี.ค.
การดิ่งลงของดัชนี PPI ในเดือนเม.ย. ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสหรัฐจะเผชิญภาวะเงินฝืดในช่วงสั้นๆ ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบอุปสงค์
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI ร่วงลง 1.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2558 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนมี.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PPI จะปรับตัวลง 0.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และลดลง 0.2% เมื่อเทียบรายปี