ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 3 ในวันนี้ โดยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่มีการรายงานในวันนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจผ่านพ้นภาวะย่ำแย่ที่สุดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ณ เวลา 20.43 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 25,569.53 จุด บวก 21.26 จุด หรือ 0.08%
ดัชนีดาวโจนส์มีแนวโน้มทำสถิติปรับตัวขึ้นมากที่สุดในสัปดาห์นี้นับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย.
หุ้นของบริษัทที่จะได้รับประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจสหรัฐต่างดีดตัวขึ้นในวันนี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 2.1 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.05 ล้านราย
ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าว บ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้ชาวอเมริกันตกงานสูงถึง 40 ล้านรายนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่มีการรายงานในวันนี้ถือว่าต่ำที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว และมีการชะลอตัวติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 8 นับตั้งแต่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 6.9 ล้านรายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 มี.ค.
สำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ค. ลดลงสู่ระดับ 21.05 ล้านราย
อย่างไรก็ดี ช่วงบวกของดาวโจนส์ถูกจำกัดจากความวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน
ที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) มีมติเห็นชอบวันนี้ให้มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง
โดยกฎหมายดังกล่าวจะให้อำนาจรัฐสภาของจีนในการจัดทำกรอบกฎหมาย และบังคับใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อป้องกันและลงโทษการกบฏ การก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และการแทรกแซงของต่างชาติ หรือการกระทำใดๆ ที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ
ทางด้านนายไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ได้รายงานต่อสภาคองเกรสสหรัฐเมื่อวานนี้ว่า ฮ่องกงไม่ได้มีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองจากจีนอีกต่อไป
"ขณะที่สหรัฐเคยหวังว่าฮ่องกง ซึ่งมีความเป็นอิสระและมั่งคั่ง จะช่วยเป็นแบบอย่างสำหรับจีน แต่บัดนี้กลับปรากฎชัดว่าจีนกำลังสร้างฮ่องกงให้เป็นเหมือนตนเอง" รายงานระบุ
การดำเนินการดังกล่าวของนายปอมเปโออาจกระทบต่อสถานะพิเศษของฮ่องกง ซึ่งได้รับการเอื้อประโยชน์ทางการค้ากับสหรัฐ
ที่ผ่านมา ฮ่องกงได้รับการยกเว้นภาษีต่อสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐยังคงเก็บภาษีต่อสินค้าที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐจากการที่ทั้งสองฝ่ายทำสงครามการค้าระหว่างกัน
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 5% ซึ่งย่ำแย่กว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระบุว่าหดตัวลง 4.8% โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ซึ่งทำให้มีการปิดเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลข GDP ติดลบ นับตั้งแต่ที่มีการรายงานว่าเศรษฐกิจหดตัว 1.1% ในไตรมาส 1/2557 และเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจหดตัว 8.4% ในไตรมาส 4/2551 ซึ่งขณะนั้นสหรัฐกำลังเผชิญวิกฤตการเงิน
การลงทุนของภาคธุรกิจที่อ่อนแอเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรก ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ช่วยชดเชยผลกระทบดังกล่าว
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 40% ในไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นการทรุดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2490
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% ทั้งในไตรมาส 4 และไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว หลังจากเติบโต 2.0% ในไตรมาส 2 และ 3.1% ในไตรมาส 1
นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.3% ในปี 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยต่ำกว่าระดับ 2.9% ในปี 2561 และ 2.4% ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกในการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่เขาตั้งเป้าการขยายตัวรายปีของเศรษฐกิจสหรัฐที่ระดับ 3% ในช่วงการดำรงตำแหน่งของเขา
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ดิ่งลง 17.2% ในเดือนเม.ย. หลังจากร่วงลง 16.6% ในเดือนมี.ค.
การทรุดตัวของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนเม.ย. ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อในหมวดขนส่งทรุดตัวลง 47.3%
ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ดิ่งลง 5.8% ในเดือนเม.ย. หลังจากลดลง 1.1% ในเดือนมี.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานจะทรุดตัวลง 10.0% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานลดลง 1.3% ในเดือนเม.ย.