ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 300 จุด ทะลุแนว 26,000 ในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐที่ดีกว่าคาด และเป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานได้ผ่านภาวะย่ำแย่ที่สุดแล้ว
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
ณ เวลา 21.54 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 26,065.76 จุด บวก 323.11 จุด หรือ 1.26%
นายมาร์ค แซนดี หัวหน้านักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ อนาลิติกส์ กล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐในเดือนพ.ค.อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานได้ผ่านภาวะย่ำแย่ที่สุดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐลดลง 2.76 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ค. แต่ยังดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 8.75 ล้านตำแหน่ง หลังจากทรุดตัวลง 19.6 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นภาวะการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 2545
หากอยู่ภายใต้สถานการณ์ปกติ การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐที่ลดลงมากกว่า 2 ล้านตำแหน่งต่อเดือนถือเป็นเรื่องที่น่าวิตก อย่างไรก็ดี ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐและของโลกไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ปกติ
นอกจากนี้ ตัวเลขการจ้างงานที่ลดลงราว 2 ล้านตำแหน่ง จากที่คาดการณ์ไว้มากกว่า 8 ล้านตำแหน่งช่วยให้นักลงทุนมีความหวังว่าวิกฤตการณ์ในตลาดแรงงานสหรัฐได้ผ่านพ้นภาวะเลวร้ายที่สุดแล้ว และกำลังฟื้นตัวขึ้นจากการเปิดเศรษฐกิจครั้งใหม่
"ข่าวดีก็คือ ผมคิดว่าเราได้ผ่านพ้นภาวะถดถอยจากโควิด-19 แล้ว ยกเว้นเราจะเจอการแพร่ระบาดรอบสอง หรือมีการใช้นโยบายที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง"
"ส่วนข่าวร้ายคือ การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างล่าช้า จนกว่าจะมีการคันพบวัคซีน และยารักษาโควิด-19 ที่จะมีการกระจาย และมีการใช้ในวงกว้าง" นายแซนดีกล่าว
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในวันศุกร์นี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 8.33 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 19.5%
เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรดิ่งลง 20.5 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ส่วนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 14.7% ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าระดับ 10.8% ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่ำกว่าระดับ 24.9% ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราการว่างงานในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
การลดลงของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังได้ปัจจัยบวกจากการชุมนุมประท้วงการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มเป็นไปอย่างสงบ โดยแตกต่างจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ 40 เมืองทั่วสหรัฐได้ประกาศเคอร์ฟิว หลังเกิดเหตุจลาจล ทั้งการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ การเผารถยนต์ และการทุบกระจกร้านค้า ท่ามกลางความไม่พอใจต่อการที่ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อนายจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งเป็นชายผิวสี จนเสียชีวิต
ขณะนี้ ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับระดับต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ที่ทำไว้ในวันที่ 23 มี.ค.
ศาสตราจารย์เจเรมี ซีเกลจากมหาวิทยาลัยวาร์ตัน กล่าวว่า ตลาดหุ้นยังคงมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นต่อไป โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
นักลงทุนรอการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า โดยจับตามุมมองของเฟดต่อเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ย