ดาวโจนส์ดิ่งเหว ทรุดกว่า 800 จุด หุ้น"แอปเปิล"ทุบตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 3, 2020 22:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดดิ่งลงกว่า 800 จุด หลุดระดับ 29,000 ขณะที่นักลงทุนขายทำกำไร หลังจากตลาดทะยานขึ้นก่อนหน้านี้

ณ เวลา 22.20 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 28,296.20 จุด ลบ 804.30 จุด หรือ 2.76%

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงในวันนี้ นำโดยหุ้นแอปเปิล ซึ่งทรุดตัวลงมากกว่า 5% ทำสถิติปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.

ราคาหุ้นเฟซบุ๊ก อิงค์ร่วงลงกว่า 3% หลังแถลงในวันนี้ว่า ทางบริษัทจะแบนโฆษณาทางการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 7.6% ในเดือนส.ค. โดยดีดตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทำสถิติเป็นเดือนส.ค.ที่ทะยานขึ้นมากที่สุดในรอบ 36 ปี

ส่วนดัชนี S&P 500 ดีดตัวขึ้น 7% ในเดือนส.ค. ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และทำสถิติเป็นเดือนส.ค.ที่พุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบ 34 ปี

ดัชนี S&P 500 ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนส.ค. และเป็นการยืนยันถึงการเริ่มต้นของภาวะกระทิงในตลาด

เมื่อวันศุกร์ ดัชนีดาวโจนส์สามารถลดช่วงติดลบทั้งหมดที่ทำไว้นับตั้งแต่ต้นปีนี้ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล โดยได้ประกาศการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ ซึ่งเฟดจะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกหลายปี

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 881,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 950,000 ราย หลังจากมีการรายงานจำนวน 1.011 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 13.254 ล้านราย หลังจากพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์สู่ระดับ 24.912 ล้านรายในช่วงต้นเดือนพ.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในเดือนก.ค. โดยเพิ่มขึ้น 18.9% สู่ระดับ 6.36 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์

กระทรวงพาณิชย์ยังเปิดเผยว่า การนำเข้าพุ่งขึ้น 10.9% สู่ระดับ 2.317 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 8.1% สู่ระดับ 1.681 แสนล้านดอลลาร์

ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 56.9 ในเดือนส.ค. จากระดับ 58.1 ในเดือนก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 57.0

ดัชนีภาคบริการของสหรัฐถูกกดดันจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่ แม้ว่าการจ้างงานดีดตัวขึ้น

ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ

ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่

อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคบริการของ ISM สวนทางกับข้อมูลของไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 55.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 50.0 ในเดือนก.ค.

ดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ในเดือนส.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการจ้างงาน ซึ่งพุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2557 ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี ส่วนความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจแตะระดับสูงสุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ ดัชนี PMI ทรุดตัวลงแตะ 26.7 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในสัปดาห์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในวันพรุ่งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.255 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค.

เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.763 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.48 ล้านตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าระดับ 4.791 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 10.2% โดยต่ำกว่าระดับ 11.1% ในเดือนมิ.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.6%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ