ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง 632.42 จุดจากแรงขายหุ้นเทคโนฯ,วิตกข้อพิพาทจีน-สหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 9, 2020 06:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (8 ก.ย.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน พร้อมกับขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีบริษัทสหรัฐที่ออกไปสร้างงานในจีนและประเทศอื่นๆ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,500.89 จุด ลดลง 632.42 จุด หรือ -2.25% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,331.84 จุด ลดลง 95.12 จุด หรือ -2.78% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,847.69 จุด ลดลง 465.44 จุด หรือ -4.11%

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและจีนได้สร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ หลังจากปธน.ทรัมป์แถลงต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ว่า เขาจะลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน พร้อมกับขู่ว่าจะใช้มาตรการลงโทษบริษัทของสหรัฐที่ไปสร้างงานในต่างประเทศ และจะกีดกันบริษัทที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีนไม่ให้ได้รับสัญญาทางธุรกิจกับรัฐบาลกลางสหรัฐ

"เราจะผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในด้านการผลิตภายในประเทศของเรา เราจะให้เครดิตภาษีแก่สินค้าที่ตีตรา 'Made in America' และเราจะนำตำแหน่งงานกลับคืนสู่สหรัฐ ขณะเดียวกันเราจะเรียกเก็บภาษีบริษัทที่ออกไปสร้างงานในจีนและในประเทศอื่นๆ หากบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถทำธุรกิจในสหรัฐได้ ก็ปล่อยให้พวกเขาเสียภาษีก้อนใหญ่เพื่อจะออกไปสร้างงานในต่างประเทศ และส่งสินค้ากลับมาขายในประเทศเรา" ปธน.ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ทางด้านจีนได้ออกมาเคลื่อนไหวในเวลาต่อมา ด้วยการนำเสนอแผน "Global Initiative on Data Security" ในที่ประชุม "International Seminar on Global Digital Governance" ซึ่งจัดขึ้นผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีควรปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศที่บริษัทนั้นๆ ดำเนินธุรกิจอยู่ ขณะเดียวกันประเทศต่างๆ ก็ไม่ควรเรียกร้องให้บริษัทภายในประเทศทำการเก็บข้อมูลของประเทศอื่นๆ พร้อมกับย้ำว่า ผู้จัดหาผลิตภัณฑ์และการบริการ ICT ไม่ควรติดตั้งระบบแบ็คดอร์ในผลิตภัณฑ์และการบริการเหล่านี้เพียงเพื่อให้ได้ข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างผิดกฎหมาย

หุ้น 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ร่วงลงทุกกลุ่ม นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 4.9% เนื่องจากนักลงทุนเดินหน้าเทขายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับมูลค่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่สูงเกินไป โดยหุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 5.41% หุ้นแอปเปิล ดิ่งลง 6.73% หุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 4.09% หุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 3.64% หุ้นแอมะซอนดอทคอม ดิ่งลง 4.39%

หุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิปร่วงลง เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลต่อรายงานข่าวที่ว่า สหรัฐอาจขึ้นบัญชีดำบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (SMIC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปชั้นนำของจีน โดยหุ้น Nvidia ดิ่งลง 5.62% หุ้นอินเทล ร่วงลง 2.34% หุ้นแลม รีเสิร์ช ทรุดลง 9.13% หุ้นแอพพลายด์ มาเทเรียลส์ ดิ่งลง 8.74

หุ้นเทสลา ทรุดตัวลง 21.06% หลังจากบริษัท S&P Dow Jones Indices LLC ทำการปรับน้ำหนักหุ้นในดัชนี S&P500 โดยไม่ได้นำหุ้นเทสลาเข้าคำนวณในดัชนีดังกล่าว ซึ่งผิดไปจากที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าหุ้นเทสลาจะได้รับการคำนวณอยู่ในดัชนี S&P500 หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา

หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งหลุดจากระดับ 37 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 2.30% หุ้นเชฟรอน ดิ่งลง 3.61% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ร่วงลง 7.38% หุ้นอ็อคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม ทรุดลง 9.71%

หุ้นเจพีมอร์แกน เชส ร่วงลง 3.48% หลังมีรายงานว่า เจพีมอร์แกนกำลังตรวจสอบพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเงินกองทุนเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ไปใช้ในทางมิชอบ ขณะที่หุ้นตัวอื่นๆในกลุ่มธนาคารร่วงลงตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ โดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 4.08% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ดิ่งลง 3.99% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ร่วงลง 2.82%

หุ้นเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ผู้ผลิตรถยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 7.93% หลังจากจีเอ็มประกาศแผนซื้อหุ้นของบริษัทนิโคลา คอร์ป ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าของสหรัฐ โดยจะซื้อหุ้นในสัดส่วน 11% คิดเป็นวงเงินราว 2 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ราคาหุ้นนิโคลาปิดตลาดทะยานขึ้น 40.79%

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.ค. และอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ