หุ้นเทคโนโลยีนำวอลล์สตรีททะยานวันนี้ "แอปเปิล"พุ่งก่อนจัดอีเวนต์พรุ่งนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 14, 2020 20:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททะยานขึ้นในวันนี้ นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังจากที่ร่วงลงในสัปดาห์ที่แล้ว

ณ เวลา 20.40 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 27,869.07 จุด บวก 203.43 จุด หรือ 0.73% ขณะที่ดัชนี S&P 500 บวก 1.22% ส่วนดัชนี Nasdaq บวก 1.76%

การดิ่งลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 2.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวรายสัปดาห์ที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. ส่วนดัชนี Nasdaq ทรุดตัวลง 4% ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.

ราคาหุ้นแอปเปิล อิงค์พุ่งขึ้นกว่า 2% ในวันนี้ ก่อนที่บริษัทจะจัดแอปเปิลอีเวนต์ในวันพรุ่งนี้

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าแอปเปิลจะเปิดตัว Apple Watch และ iPad รุ่นใหม่ในวันพรุ่งนี้ ส่วน iPhone 12 จะมีการเปิดตัวในเดือนต.ค.

ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่ของอังกฤษ จะกลับมาทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในเฟส 3 อีกครั้ง หลังจากที่ได้ระงับโครงการไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากอาสาสมัครรายหนึ่งมีอาการอักเสบที่ระบบประสาทในไขสันหลังอย่างรุนแรง หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว

นักวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ขณะที่คาดการณ์ผลประกอบการสดใส และได้รับปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 ก.ย.นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ที่ประชุมเฟดจะให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับ "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้กล่าวถึงในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ

ทั้งนี้ นายพาวเวลระบุว่า เฟดจะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐ

นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดจะใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% แทนที่จะกำหนดเป้าหมายตายตัวที่ 2%

การประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินดังกล่าว ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มน้อยลงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่ออัตราว่างงานลดลง ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ดีดตัวขึ้น ขณะที่ก่อนหน้านี้ เฟดมีความเชื่อว่าอัตราว่างงานต่ำจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นจนถึงขีดอันตราย ทำให้เฟดดำเนินการล่วงหน้าด้วยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อาจก่อตัวขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ