ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพุ่งขึ้นในวันนี้ ต่อเนื่องจากวานนี้ โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
ณ เวลา 21.17 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 28,162.63 จุด บวก 169.30 จุด หรือ 0.6% ขณะที่ดัชนี S&P 500 บวก 0.91% ส่วนดัชนี Nasdaq บวก 1.19%
ราคาหุ้นแอปเปิล อิงค์พุ่งขึ้นกว่า 2% ในวันนี้ ก่อนที่บริษัทจะจัดแอปเปิลอีเวนต์ในวันนี้
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าแอปเปิลจะเปิดตัว Apple Watch และ iPad รุ่นใหม่ในวันนี้ ส่วน iPhone 12 จะมีการเปิดตัวในเดือนต.ค.
ตลาดได้ปัจจัยบวกจากการที่จีนเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในปีนี้ รวมทั้งการที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่ของอังกฤษ จะกลับมาทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในเฟส 3 อีกครั้ง หลังจากที่ได้ระงับโครงการไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากอาสาสมัครรายหนึ่งมีอาการอักเสบที่ระบบประสาทในไขสันหลังอย่างรุนแรง หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว
นักวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ขณะที่คาดการณ์ผลประกอบการสดใส และได้รับปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 ก.ย.นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ที่ประชุมเฟดจะให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับ "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้กล่าวถึงในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ
ทั้งนี้ นายพาวเวลระบุว่า เฟดจะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐ
นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดจะใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% แทนที่จะกำหนดเป้าหมายตายตัวที่ 2%
การประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินดังกล่าว ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มน้อยลงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่ออัตราว่างงานลดลง ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ดีดตัวขึ้น ขณะที่ก่อนหน้านี้ เฟดมีความเชื่อว่าอัตราว่างงานต่ำจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นจนถึงขีดอันตราย ทำให้เฟดดำเนินการล่วงหน้าด้วยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อาจก่อตัวขึ้น
ผลการสำรวจของสำนักข่าว CNBC พบว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% และจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2566
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ เฟดสาขานิวยอร์ก รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ดีดตัวขึ้น 13.3 จุด สู่ระดับ 17.0 ในเดือนก.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.0 หลังจากดิ่งลง 14 จุดในเดือนส.ค.
ดัชนีอยู่เหนือระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก โดยดัชนีมีค่าเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
ดัชนีได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อแนวโน้มในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคานำเข้าดีดตัวขึ้นมากกว่าคาดในเดือนส.ค. โดยปรับตัวขึ้น 0.9% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 1.2% ในเดือนก.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีราคานำเข้าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ในเดือนส.ค.
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าลดลง 1.4% ในเดือนส.ค. หลังจากดิ่งลง 2.8% ในเดือนก.ค.