ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (29 ก.ย.) ซึ่งเป็นการปิดในแดนลบวันแรกในรอบ 4 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นก่อนที่การดีเบตรอบแรกระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต จะเปิดฉากขึ้นในวันนี้เวลา 08.00 น.ตามเวลาไทย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,452.66 จุด ลดลง 131.40 จุด หรือ -0.48% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,335.47 จุด ลดลง 16.13 จุด หรือ -0.48% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,085.25 จุด ลดลง 32.28 จุด หรือ -0.29%
นักลงทุนจับตาการดีเบตรอบแรกระหว่างปธน.ทรัมและนายไบเดนซึ่งจะมีขึ้นในเวลา 21.00 น.ของวันอังคารตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเวลา 08.00 น.ของวันพุธตามเวลาไทย โดยการดีเบตจะใช้เวลารวม 90 นาที ซึ่งผู้เข้าดีเบตจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ใน 6 หัวข้อ ได้แก่ ประวัติของทรัมป์และไบเดน, ศาลฏีกาสหรัฐ, โควิด-19, เศรษฐกิจ, เชื้อชาติและความรุนแรงในเมืองต่างๆของสหรัฐ รวมทั้งความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง
นักวิเคราะห์เตือนว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กจะเผชิญกับความผันผวนในสัปดาห์นี้ โดยได้รับผลกระทบจากการดีเบต ซึ่งหากทรัมป์ชนะการดีเบตครั้งนี้ ก็จะส่งผลให้หุ้นในกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิล และบริษัทผลิตอาวุธดีดตัวขึ้น และหากไบเดนเป็นฝ่ายชนะ ก็จะทำให้หุ้นในกลุ่มที่มีการค้าทั่วโลก และกลุ่มพลังงานหมุนเวียนปรับตัวขึ้น
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงกว่า 3% เมื่อคืนนี้ โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 2.94% หุ้นเชฟรอน ดิ่งลง 2.75% หุ้นอ็อคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม ร่วงลง 3.38% หุ้นเบเกอร์ ฮิวจ์ ดิ่งลง 2.52% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ทรุดลง 5.41%
หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลงตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 1.15% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ร่วงลง 2.12% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ดิ่งลง 2.36% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส ลดลง 0.84%
หุ้นบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลงเป็นส่วนใหญ่ นำโดยหุ้น ZTO Express ดิ่งลง 7.44% และหุ้น NetEase ร่วงลง 2.84%
อย่างไรก็ดี หุ้นบริษัทเทคโนโลยีด้านการสื่อสารดีดตัวขึ้นสวนทางการติดลบของตลาด โดยหุ้นเฟซบุ๊ก พุ่งขึ้น 1.94% หุ้นทวิตเตอร์ ปรับตัวขึ้น 1.34% หุ้นสแนป ดีดตัวขึ้น 0.97% หุ้นอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล บวก 0.50%
นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยรายงานล่าสุดระบุว่า นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ จะหารือกันอีกครั้งเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่วงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยพรรคเดโมแครตพยายามผลักดันให้ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสบรรลุข้อตกลงกันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีผลต่อบรรยากาศการซื้อขายเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 101.8 ในเดือนก.ย. จากระดับ 86.3 ในเดือนส.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 89.5 โดยได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้นต่อตลาดแรงงาน
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.5% สู่ระดับ 8.29 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.1% สู่ระดับ 2.013 แสนล้านดอลลาร์ และการส่งออกเพิ่มขึ้น 2.8% สู่ระดับ 1.183 แสนล้านดอลลาร์
ขณะที่ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 4.8% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว หลังจากเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนมิ.ย. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย.จาก ADP, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2563, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนก.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนส.ค., ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน