ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดิ่งกว่า 400 จุด กังวลเลือกตั้งปธน.ป่วน หลัง"ทรัมป์"ติดโควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 2, 2020 20:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงกว่า 400 จุดในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปรับตัวลงในคืนนี้ ท่ามกลางความวิตกต่อการเมืองสหรัฐ หลังจากมีข่าวว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ณ เวลา 20.01 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 459 จุด หรือ 1.66% สู่ระดับ 27,230 จุด

ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ระบุในทวิตเตอร์ว่า "เมลาเนีย และผม มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก เราจะเริ่มกระบวนการกักตัว และทำการรักษาในทันที เราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน"

นักลงทุนวิตกว่าการติดเชื้อโควิด-19 ของปธน.ทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. และจะทำให้รัฐบาลระงับแผนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อหันมาควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจสหรัฐ เช่น สายการบิน และธุรกิจเรือสำราญ ต่างก็ปรับตัวลงในการซื้อขายก่อนเปิดตลาด นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก็ได้ร่วงลงเช่นกัน

ทางด้านนายเดวิน โอมอลลีย์ โฆษกของนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ทวีตข้อความระบุว่า ผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่พบว่านายเพนซ์และภรรยาติดเชื้อแต่อย่างใด

ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ หากประธานาธิบดีสหรัฐไม่สามารถปฏิบัติภารกิจ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ รองประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ส่วนคนที่ 2 คือประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 661,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 850,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 4.781 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงเป็นประวัติการณ์

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 7.9% ในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.2% หลังจากแตะระดับ 8.4% ในเดือนส.ค.

นักลงทุนยังคงจับตาความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากผ่านการอนุมัติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวานนี้

อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ขณะที่นายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ แสดงความเห็นคัดค้านมาตรการดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ