ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ปรับตัวลงเล็กน้อยในวันนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ณ เวลา 19.57 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 38 จุด หรือ 0.14% สู่ระดับ 28,096 จุด
นักลงทุนผิดหวังต่อการที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และมีการคาดการณ์กันว่า ทั้งสองฝ่ายอาจเลื่อนการเจรจาไปหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ทั้งนี้ ในขณะที่เหลือเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี นางเพโลซีและนายมนูชินยังคงมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือต่อมลรัฐต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคธุรกิจ
ทางด้านโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า สภาคองเกรสสหรัฐจะไม่สามารถออกกฎหมายว่าด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย.
"หลายประเด็นสำคัญยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้การบรรลุข้อตกลงไม่น่าจะเป็นไปได้" นายอเล็ก ฟิลลิปส์ นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ระบุในรายงาน
"ในขณะนี้ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมาก และเวลาก็เหลือน้อยลง ทำให้คุณเพโลซีและคุณมนูชินคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงก่อนการเลือกตั้ง และต่อให้ทั้งสองคนบรรลุข้อตกลง ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่สภาคองเกรสจะอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก่อนการเลือกตั้ง" รายงานระบุ
ส่วนนายจอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐ และนายคริส เรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) แถลงว่า รัสเซียและอิหร่านได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐ พร้อมทั้งประกาศว่า สหรัฐจะตอบโต้ประเทศใดๆ ก็ตามที่มีส่วนแทรกแซงการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจะจับตาการดีเบตรอบสุดท้ายระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครตในวันนี้เวลา 21.00-22.30 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเช้าวันพรุ่งนี้เวลา 08.00-09.30 น.ตามเวลาไทย
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 787,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 875,000 ราย หลังจากอยู่ที่ระดับ 842,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกต่ำกว่าระดับ 1 ล้านรายเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน หลังจากพุ่งเหนือระดับ 1 ล้านรายเป็นเวลานาน 5 เดือน นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนมี.ค.
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 6.867 ล้านรายในช่วงปลายเดือนมี.ค. โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจปิดกิจการ และมีการปลดพนักงานจำนวนมาก
กระทรวงแรงงานยังเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 1.02 ล้านราย สู่ระดับ 8.37 ล้านราย