ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะยานกว่า 600 จุด ขานรับคาดการณ์การคว้าชัยชนะของนายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ซึ่งมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐครั้งใหญ่
ณ เวลา 22.19 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 28,460.19 จุด บวก 612.53 จุด หรือ 2.2%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายไบเดนยังคงมีคะแนนนำประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 264 เสียง ขณะที่ปธน.ทรัมป์ได้ 214 เสียง โดยนายไบเดนต้องการอีกเพียง 6 เสียงเท่านั้นก็จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 270 เสียงจากทั้งหมด 538 เสียง เพื่อชนะการเลือกตั้ง
หากปธน.ทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ เขาจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่พ่ายแพ้ในการลงชิงชัยประธานาธิบดีสมัยที่ 2 นับตั้งแต่ที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกัน พ่ายแพ้ต่อนายบิล คลินตันจากพรรคเดโมแครตในปี 2535
ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ หลังพบว่าคะแนนเสียงของนายไบเดนเริ่มตีตื้นขึ้นจนแซงหน้าปธน.ทรัมป์ในรัฐสำคัญใน Swing State หรือ Battleground State ซึ่งเป็นรัฐที่ไม่ใช่ฐานเสียงของทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งเริ่มนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่มีการส่งทางไปรษณีย์
ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งซึ่งสนับสนุนพรรคเดโมแครตมักนิยมลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ ในขณะที่กลุ่มสนับสนุนพรรครีพับลิกันนิยมไปลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้ง
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพุ่งขึ้นขานรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายไบเดน โดยพรรคเดโมแครตเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่พรรครีพับลิกันเสนอวงเงินเพียง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ในการออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
หากนายไบเดนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จในสภาคองเกรสทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ก็จะทำให้การขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากที่ถูกขัดขวางในสมัยของปธน.ทรัมป์
แต่ถ้าหากพรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ก็จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นเช่นกัน โดยจะทำให้นโยบายการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของนายไบเดนอาจไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส ทำให้บริษัทจดทะเบียนยังคงได้รับประโยชน์จากนโยบายลดอัตราภาษีของรัฐบาลทรัมป์ต่อไป
นอกจากนี้ การถ่วงดุลอำนาจดังกล่าว จะช่วยลดโอกาสที่รัฐบาลของนายไบเดนจะทำการออกมาตรการควบคุมกฎระเบียบสถาบันการเงิน และบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐ
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน โดยลดลงสู่ระดับ 751,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 758,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 732,000 ราย
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 6.9 ล้านรายในช่วงปลายเดือนมี.ค. โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจปิดกิจการ และมีการปลดพนักงานจำนวนมาก
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนนี้ และการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันพรุ่งนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 530,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 7.7%