ดาวโจนส์ทรุดกว่า 600 จุด ผวาเดโมแครตขึ้นภาษี หากชนะเลือกตั้งสว.พรุ่งนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 5, 2021 00:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดร่วงลงกว่า 600 จุด หลุดระดับ 30,000 จุด ในการซื้อขายวันแรกของปีนี้ ขณะที่นักลงทุนกังวลว่า หากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารอบสองในรัฐจอร์เจียวันพรุ่งนี้ จะทำให้ทางพรรคสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในทำเนียบขาว วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำให้การผลักดันมาตรการปรับขึ้นภาษีภายใต้รัฐบาลของนายโจ ไบเดน เป็นไปได้ง่ายขึ้น และจะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท

นายจอห์น สโตลท์ฟัส หัวหน้านักวิเคราะห์ของบริษัทออพเพเนไฮเมอร์ กล่าวว่า ดัชนี S&P 500 จะทรุดตัวลง 10% หากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในรัฐจอร์เจียพรุ่งนี้

ณ เวลา 00.10 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 29,947.66 จุด ลบ 658.82 จุด หรือ 2.16%

นักลงทุนจับตาการเมืองสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยรัฐจอร์เจียจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารอบสองในวันพรุ่งนี้ ขณะที่สภาคองเกรสเตรียมประกาศชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันพุธ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต ต่างเดินทางไปยังรัฐจอร์เจียในวันนี้ เพื่อรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารอบสอง ซึ่งจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้

การเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นเกมการเมืองที่มีเดิมพันสูงสำหรับพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน โดยจะตัดสินว่าพรรคใดสามารถครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา

หากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็จะทำให้ทางพรรคสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในทำเนียบขาว วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ นายไบเดนมีนโยบายเพิ่มภาษีคนรวยเพื่อช่วยคนจน โดยเขาจะยกเลิกมาตรการปรับลดอัตราภาษีของปธน.ทรัมป์ ด้วยการปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 28% จากเดิมที่ปธน.ทรัมป์ปรับลดจาก 35% สู่ระดับ 21% ในปัจจุบัน นอกจากนี้ นายไบเดนจะปรับเพิ่มภาษีของครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่า 400,000 ดอลลาร์ต่อปี โดยมีการคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านดอลลาร์ภายในเวลา 10 ปี ขณะที่นายไบเดนจะเพิ่มการลดหย่อนภาษีสำหรับชนชั้นกลาง และให้เงินอุดหนุนภาษีสำหรับการเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น

ขณะนี้ นายเคลลี ลอฟเฟลอร์ และนายเดวิด เพอร์ดิว จากพรรครีพับลิกัน ครองตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในรัฐจอร์เจีย ซึ่งหากทั้งสองสามารถรักษาเก้าอี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็จะทำให้พรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาต่อไป ด้วยคะแนนเสียง 52 ต่อ 48 เสียง

อย่างไรก็ดี ถ้าหากนายลอฟเฟลอร์ และนายเพอร์ดิว พ่ายแพ้ให้แก่นายราฟาเอล วอร์นอค และนายโจน ออสซอฟฟ์ ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ทางพรรคเดโมแครตก็จะสามารถครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา โดยมีคะแนนเสียง 50 ต่อ 50 เสียง รวมกับอีก 1 เสียงจากนางคามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะใช้สิทธิลงคะแนนเสียงดังกล่าวในฐานะประธานวุฒิสภาเพื่อชี้ขาดในกรณีที่วุฒิสมาชิกลงคะแนนเสียงเท่ากันในญัตติใดญัตติหนึ่ง

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารอบสองในรัฐจอร์เจียจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.2563

พรรคเดโมแครตมีโอกาสที่จะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งวุฒิสภาในรัฐจอร์เจียในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่นายไบเดนสามารถชนะการเลือกตั้งในรัฐดังกล่าวในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว โดยสามารถทำลายสถิติการผูกขาดชัยชนะของพรรครีพับลิกันเป็นเวลาหลายสมัย

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลกกำลังจับตาสภาคองเกรสสหรัฐ ซึ่งจะทำการประกาศชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันพุธนี้

ทั้งนี้ สภาคองเกรสจะจัดการประชุมร่วมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 ม.ค.เพื่อนับผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้ง โดยรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง จะเป็นประธานการประชุมดังกล่าว และจะเป็นผู้ประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ก่อนที่จะเข้าทำพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค.

ที่ผ่านมา การนับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้งในสภาคองเกรสมักไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน เนื่องจากผู้ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมักจะยอมรับความพ่ายแพ้หลังการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังคงมีความพยายามที่จะขัดขวางการประกาศให้นายโจ ไบเดนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างใด

ล่าสุด สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ 11 รายจากพรรครีพับลิกัน ภายใต้การนำของนายเท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกรัฐเท็กซัส ได้รวมตัวกันประกาศจุดยืนคัดค้านการรับรองชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายไบเดน พร้อมกับเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการโกงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวเตรียมออกเสียงคัดค้านในวันพุธนี้ในการประชุมร่วมของสภาคองเกรส ซึ่งจะมีการนับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังคงวิตกต่อการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 โดยถึงแม้ขณะนี้หลายประเทศได้เริ่มฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 แต่การกลายพันธุ์ของไวรัสก็ได้ทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ล่าสุด ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 85.5 ล้านราย เสีนชีวิตกว่า 1.8 ล้านราย ขณะที่สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 21 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 360,000 ราย

นายแมทท์ แฮนค็อก รมว.สาธารณสุขอังกฤษ กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้มีความเสี่ยง และสร้างความกังวลมากกว่าสายพันธุ์ที่พบในอังกฤษ

ทางด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ถึงแม้ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ไวรัสมีความรุนแรงมากขึ้น และคาดว่าวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค รวมทั้งแอสตร้าเซนเนก้า/มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดจะสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ศจ.จอห์น เบลล์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้มีความน่าวิตก เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ในหลายด้าน และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในโครงสร้างโปรตีนของไวรัส

ศจ.เบลล์กล่าวว่า ยังคงมีคำถามว่า วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค รวมทั้งแอสตร้าเซนเนก้า/มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดจะไร้ประสิทธิภาพในการรับมือต่อการกลายพันธุ์ดังกล่าวหรือไม่

ศจ.เบลล์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกำลังวิจัยผลกระทบจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีต่อวัคซีนในขณะนี้ แต่เขาเชื่อว่าวัคซีนดังกล่าวยังคงสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ แต่เขาไม่แน่ใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 57.1 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2557 จากระดับ 56.7 ในเดือนพ.ย.

ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ โดยปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8

ดัชนี PMI ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจดีดตัวขึ้น โดยคาดว่าการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นในปีนี้

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนพ.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 1.6% ในเดือนต.ค.

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนพ.ย.

เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนพ.ย.

การใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนพ.ย. ขณะที่การใช้จ่ายในโครงการภาคสาธารณะลดลง 0.2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ