ดาวโจนส์พุ่งกว่า 200 จุด ขณะลุ้นเลือกตั้งส.ว.รัฐจอร์เจีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 6, 2021 22:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งกว่า 200 จุดในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารอบสองในรัฐจอร์เจีย

ณ เวลา 22.04 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 30,658.36 จุด บวก 266.76 จุด หรือ 0.88%

หุ้นกลุ่มธนาคารทะยานขึ้นในวันนี้ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 1% โดยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนผลประกอบการของภาคธนาคาร

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าหากพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส จะทำให้มีการออกมาตรการปรับขึ้นอัตราภาษี และออกกฎระเบียบคุมเข้มบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี

ทั้งนี้ นางเคลลี ลอฟเฟลอร์ และนายเดวิด เพอร์ดิว จากพรรครีพับลิกัน ครองตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในรัฐจอร์เจียในขณะนี้ ซึ่งหากทั้งสองสามารถรักษาเก้าอี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็จะทำให้พรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาต่อไป ด้วยคะแนนเสียง 52 ต่อ 48 เสียง

อย่างไรก็ดี ถ้าหากนางลอฟเฟลอร์ และนายเพอร์ดิว พ่ายแพ้ให้แก่นายราฟาเอล วอร์นอค และนายโจน ออสซอฟฟ์ ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ทางพรรคเดโมแครตก็จะสามารถครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา โดยมีคะแนนเสียง 50 ต่อ 50 เสียง รวมกับอีก 1 เสียงจากนางคามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเสียงดังกล่าวในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง เพื่อชี้ขาดในกรณีที่วุฒิสมาชิกลงคะแนนเสียงเท่ากันในญัตติใดญัตติหนึ่ง

ล่าสุด สื่อรายงานว่า นายวอร์นอคสามารถคว้าชัยชนะเหนือนางลอฟเฟลอร์ได้แล้ว ขณะที่คะแนนของนายออสซอฟฟ์ยังคงนำนายเพอร์ดิวมากกว่า 16,000 คะแนน

หากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยคว้าตำแหน่งวุฒิสมาชิกในรัฐจอร์เจียทั้ง 2 เก้าอี้ ก็จะทำให้ทางพรรคสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในทำเนียบขาว วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเอื้อต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็ทำให้การผลักดันมาตรการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใต้รัฐบาลของนายโจ ไบเดน เป็นไปได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท

นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาสภาคองเกรสซึ่งจะทำการประกาศชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันนี้ โดยการประชุมจะเริ่มขึ้นในเวลา 13.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือคืนนี้เวลา 01.00 น.ตามเวลาไทย

ทั้งนี้ สภาคองเกรสจะจัดการประชุมร่วมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้เพื่อนับผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้ง โดยรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง จะเป็นประธานการประชุมดังกล่าว และจะเป็นผู้ประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ก่อนที่จะเข้าทำพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค.

ที่ผ่านมา การนับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้งในสภาคองเกรสแทบไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน เนื่องจากผู้ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมักจะยอมรับความพ่ายแพ้หลังการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังคงมีความพยายามที่จะขัดขวางการประกาศให้นายโจ ไบเดนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างใด

นายเพนซ์จะถูกจับตามองมากที่สุดในการประชุมวันนี้ว่าเขาจะรับมืออย่างไร ท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งในและนอกสภา ขณะที่ปธน.ทรัมป์กดดันให้เขาใช้อำนาจในฐานะประธานการประชุมเพื่อหาทางระงับการรับรองชัยชนะของนายไบเดน อย่างไรก็ดี นายเพนซ์กล่าวว่า เขาไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย.2563

นอกจากนี้ นายเพนซ์ยังเผชิญแรงกดดันจากกลุ่มผู้สนับสนุนปธน.ทรัมป์ที่ได้มาชุมนุมด้านนอกอาคารรัฐสภาเพื่อคัดค้านการประกาศชัยชนะแก่นายไบเดน

ขณะเดียวกัน สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ 11 รายจากพรรครีพับลิกัน ภายใต้การนำของนายเท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกรัฐเท็กซัส รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรครีพับลิกันจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันประกาศจุดยืนคัดค้านการรับรองชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายไบเดน พร้อมกับเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการโกงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยสมาชิกสภาคองเกรสดังกล่าวเตรียมออกเสียงคัดค้านในการประชุมวันนี้

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การป่วนการประชุมในวันนี้ของสมาชิกพรรครีพับลิกันจะไม่สามารถขัดขวางการประกาศรับรองให้นายไบเดนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพียงแต่จะทำให้การประชุมต้องถูกขัดจังหวะ และอาจล่าช้ากินเวลาไปจนถึงวันพรุ่งนี้

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐลดลง 123,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 88,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ADP ได้ปรับลดตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนพ.ย.สู่ระดับ 304,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานที่ระดับ 307,000 ตำแหน่ง

การจ้างงานที่ชะลอตัวลงในเดือนธ.ค.ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจปิดกิจการ และปลดพนักงานจำนวนมาก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ