ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 200 จุด หลุดระดับ 31,000 จุดในวันนี้ ท่ามกลางความวิตกที่ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนอาจจะต้องปรับลดวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสหรัฐ และการที่หุ้นเริ่มมีราคาแพง หลังจากพุ่งขึ้นขานรับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโจ ไบเดนก่อนหน้านี้ โดยขณะนี้ค่า Forward P/E Ratio ของดัชนี S&P 500 อยู่ใกล้ระดับสูงสุดในช่วงเกิดฟองสบู่ดอทคอมในปี 2543
ณ เวลา 22.24 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 30,971.12 จุด ลบ 204.89 จุด หรือ 0.66%
ทั้งนี้ สมาชิกสภาคองเกรสหลายรายทั้งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งข้อสงสัยถึงความจำเป็นของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของปธน.ไบเดน
ท่าทีดังกล่าวของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐอาจกดดันให้ปธน.ไบเดนจะต้องลดวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐ
นอกจากนี้ นักลงทุนกำลังจับตาดูว่าปธน.ไบเดนจะสามารถทำการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวอเมริกันจำนวน 100 ล้านโดสภายใน 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตามที่เขาสัญญาได้หรือไม่ หลังจากที่รัฐบาลของอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ได้พลาดเป้าในการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวอเมริกันจำนวน 20 ล้านคนภายในปี 2563
ขณะนี้ สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 25 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 420,000 ราย
ทางด้านปธน.ไบเดนได้ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อวานนี้ และได้ลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีจำนวน 10 ฉบับเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในสหรัฐ โดยเขาจะระดมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐบาลกลางและบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหลายพันคนเพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ชาวอเมริกัน
ปธน.ไบเดนยังได้ประกาศใช้กฎหมายการผลิตยามสงคราม (Defense Production Act) เพื่อเร่งการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีการผลิตชุด PPE, ชุดตรวจสอบโควิด และมีการจัดสรรวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนอย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ กฎหมายการผลิตยามสงครามจะให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐในการสั่งการให้บริษัทต่างๆทำการผลิตในสิ่งที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้สหรัฐได้รับวัตถุดิบที่มีความจำเป็นในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
ขณะเดียวกัน ตลาดวิตกว่าการที่บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ลดการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประเทศในยุโรปจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปแสดงความไม่พอใจต่อทางบริษัท โดยบางประเทศ เช่น อิตาลี ขู่ดำเนินการทางกฎหมาย หลังจากที่ไฟเซอร์ลดการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ถึง 50%
ทางด้านวุฒิสภาจะลงมติรับรองการเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังสหรัฐของนางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบ นางเยลเลนก็จะเป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังสหรัฐ