ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ (4 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 1.5% หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่าสหรัฐอาจเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อหลังเปิดเศรษฐกิจ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,924.14 จุด ร่วงลง 345.95 จุด หรือ -1.11% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,768.47 จุด ลดลง 51.25 จุด หรือ -1.34% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,723.47 จุด ร่วงลง 274.28 จุด หรือ -2.11%
นายพาวเวลกล่าวว่า การที่สหรัฐกลับมาเปิดเศรษฐกิจ หลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น ขณะเดียวกันนายพาวเวลได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนในตลาดพันธบัตรและภาวะตึงตัวด้านการเงินที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของเฟด อย่างไรก็ตาม นายพาวเวลไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการควบคุมความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดพันธบัตร ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ คำเตือนเรื่องเงินเฟ้อของนายพาวเวลยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 1.5% เมื่อคืนนี้ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาด เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเผชิญเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นในการชำระหนี้
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้นไมครอน เทคโนโลยี ดิ่งลง 5.36% หุ้นอินเทล ร่วงลง 2.92% หุ้น Nvidia ดิ่งลง 3.39% หุ้นแอปเปิล ร่วงลง 1.58% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ลดลง 1.81%
ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ทะยานขึ้นกว่า 4% โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล พุ่งขึ้น 3.87% หุ้นเชฟรอน เพิ่มขึ้น 0.88% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ พุ่งขึ้น 3.65% หุ้นออคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม พุ่งขึ้น 4.33%
ข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐเป็นปัจจัยหนุนตลาดในระหว่างวัน โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐพุ่งขึ้น 2.6% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 2.1% โดยแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 745,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 750,000 ราย
นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติให้ความเห็นชอบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ก่อนที่จะส่งให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามรับรองเป็นกฎหมาย
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ.ของสหรัฐซึ่งกระทรวงแรงงานมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนก.พ.จะเพิ่มขึ้น 210,000 ตำแหน่ง