ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (26 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการทะยานขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี, กลุ่มเฮลธ์แคร์ และกลุ่มการเงิน เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,072.88 จุด เพิ่มขึ้น 453.40 จุด หรือ +1.39%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,974.54 จุด เพิ่มขึ้น 65.02 จุด หรือ +1.66% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,138.73 จุด เพิ่มขึ้น 161.05 จุด หรือ +1.24%
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์บวก 1.4% และดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.6% แต่ดัชนี Nasdaq ลดลง 0.6%
หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น โดยกลุ่มบริการด้านการสื่อสารเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ปรับตัวลง
ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนที่ทำการปรับพอร์ตการลงทุนในช่วงสิ้นไตรมาสแรกนั้น ยังคงเข้าซื้อหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเข้าช้อนซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีบางตัวที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาด้วย
ตลาดหุ้นนิวยอร์กพุ่งขึ้นในชั่วโมงสุดท้ายของการซื้อขาย ซึ่งหนุนดัชนีทั้ง 3 ตัวพุ่งขึ้นมากกว่า 1%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีบางตัวร่วงลง อาทิ เทสลาและอัลฟาเบท แต่หุ้นไมโครซอฟท์และเฟซบุ๊กปรับตัวขึ้น ซึ่งได้ช่วยหนุนดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดบวก
หุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า จะยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผล และการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ในเดือนมิ.ย.นี้ หลังสิ้นสุดการทำ stress test รอบต่อไป
หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้น 2.6% ตามราคาน้ำมันดิบ หลังเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ลำหนึ่งเกยตื้นขวางคลองสุเอซ ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง และทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันที่ตึงตัว
หุ้นนีโอ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน ร่วงลง 4.8% หลังเปิดเผยว่า บริษัทจะยุติการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเวลา 5 วันทำการที่โรงงานในเมืองเหอเฝยของจีน เนื่องจากขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์
ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 84.9 ในช่วงปลายเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 83 ในการสำรวจเบื้องต้นในเดือนมี.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 83.6
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐนั้น ลดลง 1.0% ในเดือนก.พ. หลังจากดีดตัวขึ้น 3.4% ในเดือนม.ค. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลร่วงลง 7.1% ในเดือนก.พ. หลังจากพุ่งขึ้น 10.1% ในเดือนม.ค.