ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (30 เม.ย.) โดยถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี อาทิ หุ้นแอมะซอน, แอปเปิล และอัลฟาเบท แม้บริษัทเหล่านี้เปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งก็ตาม ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดของสหรัฐนั้นไม่ได้ช่วยหนุนตลาดแต่อย่างใด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,874.85 จุด ลดลง 185.51 จุด หรือ -0.54%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,181.17 จุด ลดลง 30.30 จุด หรือ -0.72% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,962.68 จุด ลดลง 119.86 จุด หรือ -0.85%
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 0.5%, ดัชนี S&P500 ทรงตัว และดัชนี Nasdaq ติดลบ 0.4%
ส่วนทั้งเดือนเม.ย.นั้น ดัชนีดาวโจนส์ บวก 2.7%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 5.2% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 5.4% โดยดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 บวกขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันแล้ว และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปรับตัวลง โดยกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มวัสดุ ลดลงมากกว่า 1% ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงเกือบ 3%
บรรดานักลงทุนเทขายทำกำไรหุ้นแอปเปิล, อัลฟาเบท และเฟซบุ๊ก หลังจากที่บริษัทเหล่านี้รายงานผลประกอบการรายไตรมาสที่สดใสในสัปดาห์ที่ผ่านมา
หุ้นแอมะซอน.คอม ลดลง 0.1% หลังเปิดเผยผลกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ และส่งสัญญาณว่าผู้บริโภคจะยังคงใช้จ่ายต่อไปขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว
หุ้นทวิตเตอร์ ร่วงลง 15% หลังเปิดเผยคาดการณ์รายได้ที่ซบเซาในไตรมาส 2 โดยระบุว่าการขยายตัวของผู้ใช้งานอาจชะลอลง เนื่องจากแรงหนุนในช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 ระบาดนั้นได้ลดน้อยลง
หุ้นเชฟรอน ร่วงลง 3.6% หลังเปิดเผยผลกำไรไตรมาสแรก ร่วงลง 29% โดยได้รับผลกระทบจากค่าการกลั่นและการผลิตน้ำมันที่ลดลง
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลง แม้มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งก็ตาม โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 88.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐในเดือนมี.ค. 2563 จากระดับ 84.9 ในเดือนมี.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 87.0
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานที่กว้างที่สุด พุ่งขึ้น 0.9% ในไตรมาส 1/2564 เมื่อเทียบรายไตรมาส สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.7% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในไตรมาส 4/2563 และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี ECI ปรับตัวขึ้น 2.6% จากระดับ 2.5% ในไตรมาส 4/2563
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมี.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ดีดตัวขึ้น 2.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากปรับตัวขึ้น 1.5% ในเดือนก.พ. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 1.8% ในเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้น 4.2% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.1% หลังจากลดลง 1.0% ในเดือนก.พ. นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลพุ่งขึ้น 21.2% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 20.3% หลังจากลดลง 7.0% ในเดือนก.พ.