ดัชนีดาวโจนส์พลิกพุ่งขึ้นเกือบ 200 จุด ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ต่อเนื่องจากวานนี้ ขานรับตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่ดีกว่าคาด
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มบริษัทผลิตวัคซีนต่างทรุดตัวลงในวันนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนสนับสนุนให้สหรัฐยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับการผลิตวัคซีนโควิด-19
ณ เวลา 23.03 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,402.29 จุด บวก 171.95 จุด หรือ 0.50%
ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดวานนี้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้ปัจจัยหนุนจากคำสั่งซื้อในหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธนาคาร และกลุ่มพลังงาน
นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 498,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563
นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 540,000 ราย และต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 590,000 ราย
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับ 230,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในวันพรุ่งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,000,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 5.8%
เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 916,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2563 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 647,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 6.0% จากระดับ 6.2% ในเดือนก.พ.
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มบริษัทผลิตวัคซีนต่างทรุดตัวลงในวันนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนสนับสนุนให้สหรัฐยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ประเทศต่างๆสามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าว
ทั้งนี้ ราคาหุ้นไฟเซอร์, โมเดอร์นา และโนวาแว็กซ์ต่างดิ่งลง 4-10% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทวันนี้
องค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความชื่นชมต่อการตัดสินใจดังกล่าวของสหรัฐ โดยคาดว่าจะทำให้ประเทศที่ยากจน ซึ่งรวมถึงอินเดีย สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวของสหรัฐยังคงต้องผ่านกระบวนการอีกมากมาย เนื่องจากสมาชิกทั้ง 164 ประเทศขององค์การการค้าโลก (WTO) จะต้องให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอดังกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญแสดงความไม่มั่นใจว่าการที่สหรัฐยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนโควิด-19 จะช่วยให้ประเทศต่างๆสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าว เนื่องจากปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การขาดวัตถุดิบและองค์ความรู้ในการผลิต
ทางด้านอุตสาหกรรมยาทั่วโลกต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของสหรัฐ และเตือนว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความพยายามในการรับมือกับโรคระบาด