ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 200 จุดในวันนี้ โดยตลาดปรับฐาน หลังจากทะยานขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว
ณ เวลา 23.07 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,227.50 จุด ลบ 206.34 จุด หรือ 0.6%
อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ดีดตัวขึ้น 0.6% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
หุ้นโบอิ้งดิ่งลง 3% ในวันนี้ หลังจากที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ประกาศว่า เครื่องบินรุ่น 777X จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ขึ้นบิน จนกว่าจะถึงปี 2566
ดัชนี S&P 500 พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันศุกร์ และทำสถิติปรับขึ้นมากที่สุดรายสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนก.พ. โดยได้แรงหนุนจากการที่ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐ
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากรายงานที่ว่า ธนาคารขนาดใหญ่ทั้ง 23 แห่งของสหรัฐสามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ธนาคารดังกล่าวสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในระดับปกติ และกลับมาซื้อคืนหุ้นได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.
ขณะเดียวกัน ตลาดไม่ได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีเงินเฟ้อสำคัญพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2535 หรือสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี
นักวิเคราะห์ระบุว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นดังกล่าวถูกบิดเบือนจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการปิดเศรษฐกิจ หลังประกาศมาตรการล็อกดาวน์
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ระบุก่อนหน้านี้ว่า การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และจะผ่อนคลายลงในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ โดยไม่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในการผลิต
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงาน
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 683,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย.
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 559,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 671,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 5.8% ในเดือนพ.ค. ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.9% หลังจากแตะระดับ 6.1% ในเดือนเม.ย.