ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงกว่า 100 จุดในช่วงเปิดตลาดวันนี้ โดยนักลงทุนติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหกปี หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ปฏิเสธข้อเสนอการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต
ณ เวลา 20.37 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,673.23 จุด ลดลง 113.12 จุด หรือ -0.33% หลังจากที่ตลาดปิดทำการในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค. เนื่องในวันชาติสหรัฐ
นักลงทุนติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด หลังจากที่กลุ่มโอเปกพลัสได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากในการประชุมเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนส.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX พุ่งขึ้นไปแตะที่ 76.98 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2557
ภาวะการซื้อขายยังได้รับแรงกดดันจากหุ้นบริษัทจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐ โดยหุ้น ตีตี โกลบอล อิงค์ (Didi Global Inc) ซึ่งเป็นผู้บริหารแอปพลิเคชันเรียกรถโดยสารตีตีชูสิง (DiDi Chuxing) ร่วงลงไปถึงเกือบ 25% หลังจากที่สำนักบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (CAC) ดำเนินการตรวจสอบตีตี โกลบอล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 ก.ค.) ซึ่งเกิดขึ้นเพียงสองวัน หลังจากที่หุ้นตีตี โกลบอลเปิดทำการซื้อขายวันแรกในตลาดหุ้นสหรัฐ และต่อมาในวันอาทิตย์ที่ 4 ก.ค. CAC มีคำสั่งให้ถอดแอปพลิเคชันตีตีชูสิงออกจากแพลตฟอร์มแอปสโตร์ของจีน โดยอ้างว่า ตีตีชูสิงทำการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายของจีน
รายงานของ WSJ ระบุว่า บรรดาเจ้าหน้าที่จีน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของ CAC ต่างก็วิตกกังวลว่า ข้อมูลของผู้ใช้งานตีตีชูสิงอาจตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ เนื่องจากการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินธุรกิจต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC)
ขณะเดียวกัน นักลงทุนรอดูข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต และดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมิ.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธที่ 7 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ค.ตามเวลาไทย เพื่อจับสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ในการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ได้ส่งสัญญาณในเดือนมี.ค.ว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (2 ก.ค.) ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกทำนิวไฮ ขานรับการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์เชื่อมั่นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้