ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าในแดนลบ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนมิ.ย.อาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน ตลาดจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสในวันนี้และวันพรุ่งนี้
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 28,659.12 จุด ลดลง 59.12 จุด หรือ -0.21% ส่วนดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 27,801.47 จุด ลดลง 161.94 จุด หรือ -0.58%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2551 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 5.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0%
ทั้งนี้ จากการใช้เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 100% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค.2566 ขณะที่มีแนวโน้ม 90% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.2565
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ (14 ก.ค.) และแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ค.)
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจเอเชียวันนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์เปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2/2564 ของสิงคโปร์ ขยายตัว 14.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 11 ปี และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 14.2%
ทั้งนี้ GDP ไตรมาส 2 ของสิงคโปร์ขยายตัวแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ทรุดตัวลงอย่างหนักเนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี หากเทียบเป็นรายไตรมาส GDP ไตรมาส 2 ของสิงคโปร์หดตัวลง 2%