ดัชนีดาวโจนส์พุ่งกว่า 100 จุด ทะลุแนว 35,000 จุดในวันนี้ หลังจากที่สื่อทำการเผยแพร่ล่วงหน้าสำหรับแถลงการณ์ที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดกล่าวต่อสภาคองเกรสในวันนี้ โดยมีเนื้อหาระบุว่า เฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นในขณะนี้ก็ตาม
ณ เวลา 20.35 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 35,018.64 จุด บวก 129.85 จุด หรือ 0.37%
ทั้งนี้ นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรส โดยเขาจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ เวลา 12.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 23.00 น.ตามเวลาไทย และต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ เวลา 09.30 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 20.30 น.ตามเวลาไทย
สื่อรายงานแถลงการณ์ที่นายพาวเวลจัดเตรียมไว้สำหรับการกล่าวในวันนี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นต้องฟื้นตัวขึ้นอีกมาก ก่อนที่เฟดจะทำการปรับเปลี่ยนนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษที่เฟดใช้อยู่ในขณะนี้
นายพาวเวลระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวขึ้น แต่ตลาดแรงงานยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ นายพาวเวลยังกล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐยังคงห่างไกลจากเป้าหมายของเฟดที่กำหนดให้เศรษฐกิจมีการจ้างงานเต็มศักยภาพ พร้อมกับการรักษาเสถียรภาพของราคา
สำหรับในประเด็นเงินเฟ้อ นายพาวเวลกล่าวว่า เงินเฟ้อได้พุ่งขึ้นในระยะนี้จากปัจจัยชั่วคราวจากการที่รัฐต่างๆทำการเปิดเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก่อนที่จะปรับตัวลงเมื่อสถานการณ์ต่างๆกลับสู่ภาวะปกติ
ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าบริษัทในดัชนี S&P 500 จะมีกำไรในไตรมาส 2 พุ่งขึ้น 64% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2552
บริษัทจำนวน 66 แห่งในดัชนี S&P 500 ได้ออกรายงานคาดการณ์ผลประกอบการที่เป็นบวกในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่บริษัท FactSet ได้เริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าว
นอกจากนี้ คาดว่าหุ้นทั้ง 11 กลุ่มในตลาดจะมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงาน อุตสาหกรรม และการเงิน ขานรับการเปิดเศรษฐกิจใหม่ หลังจากที่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งขึ้น 1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนพ.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 7.3% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2553 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.8% หลังจากปรับตัวขึ้น 6.6% ในเดือนพ.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ และพุ่งขึ้น 5.6% เมื่อเทียบรายปี