ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (27 ก.ค.) หลังบวกติดต่อกัน 5 วันทำการที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขายก่อนการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตชั้นนำ และก่อนการประกาศผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,058.52 จุด ลดลง 85.79 จุด หรือ -0.24%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,401.46 จุด ลดลง 20.84 จุด หรือ -0.47% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,660.58 จุด ลดลง 180.14 จุด หรือ -1.21%
ดัชนี Nasdaq นำตลาดปรับตัวลง โดยร่วงลงวันเดียวมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์นับตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. แต่ดัชนีทั้ง 3 ตัวลดช่วงติดลบลงได้ และปิดตลาดดีดตัวขึ้นพ้นจากระดับต่ำสุดของวัน
หุ้นแอปเปิล, ไมโครซอฟท์ และอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ซึ่งจะรายงานผลประกอบการหลังปิดตลาดนั้น ร่วงลงตามกัน และถ่วงดัชนี Nasdaq และ S&P500 ลงมากที่สุด
หุ้นเทสลา ร่วง 2% หลังเปิดเผยผลกำไรไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด แต่ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนชิปทั่วโลกยังคงรุนแรงซึ่งทำให้บริษัทต้องปิดโรงงานผลิตรถยนต์ชั่วคราว
หุ้นอินเทล ร่วงลง 2.1% หลังเปิดเผยว่า โรงงานของบริษัทจะเริ่มผลิตชิปของควอลคอมม์ และวางแผนที่จะขยายธุรกิจโรงหล่อใหม่เพื่อผลิตชิป
หุ้นจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐ อาทิ หุ้นไป่ตู้ ร่วงลงต่อ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการที่จีนคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีน
บรรดานักลงทุนจะจับตาผลการประชุมเฟดในวันพุธนี้ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งตรงกับเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีตามเวลาประเทศไทย
ทั้งนี้ นักลงทุนได้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้วยการเข้าซื้อหุ้นกลุ่มปลอดภัย โดยหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มสาธารณูปโภคปรับตัวขึ้น รวมทั้งเข้าซื้อพันธบัตร ซึ่งส่งผลให้ราคาพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นด้วย
หุ้นแมคโดนัลด์ ปรับตัวขึ้น 1% สวนทางตลาด ก่อนเปิดเผยผลประกอบการในวันพุธนี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนมิ.ย. น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1% ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้วที่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนออกมาต่ำกว่าคาดการณ์
เอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส-ชิลเลอร์เปิดเผยผลสำรวจบ่งชี้ว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วสหรัฐพุ่งขึ้น 16.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 14.8% ในเดือนเม.ย. และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12
ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 15% ในเดือนเม.ย. และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 16.3%
Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นแตะระดับ 129.1 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือน จากระดับ 128.9 ในเดือนมิ.ย.
ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันต่อเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาอาจส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้ข้อจำกัดบางประการทั้งต่อบุคคลและภาคธุรกิจ