ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลดช่วงติดลบ หลังสหรัฐเผยดัชนี PCE ต่ำกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 30, 2021 20:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลดช่วงติดลบในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ต่ำกว่าคาด

นอกจากนี้ การที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อวานนี้ ก็ได้ช่วยให้ตลาดคลายความวิตกเกี่ยวกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ณ เวลา 20.08 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 86 จุด หรือ 0.25% สู่ระดับ 34,888 จุด

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ดีดตัวขึ้น 3.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2534

อย่างไรก็ดี ดัชนี PCE พื้นฐานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6%

ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 4.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 หลังจากเพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาส 2/2564 เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 6.5% ในไตรมาส 2 หลังจากที่ขยายตัว 6.4% ในไตรมาส 1

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 8.5% ในไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2526

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.3% ในไตรมาส 4/2563 หลังจากพุ่งขึ้น 33.4% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือมากกว่า 70 ปี จากการที่สหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการเปิดเศรษฐกิจ หลังจากหดตัว 31.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ และหดตัว 5% ในไตรมาส 1 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 7.0% ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากหดตัว 3.4% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ