ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เมื่อวันศุกร์ (10 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐหลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนส.ค. และนักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,607.72 จุด ลดลง 271.66 จุด หรือ -0.78%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,458.58 จุด ลดลง 34.70 จุด หรือ -0.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,115.49 จุด ลดลง 132.76 จุด หรือ -0.87%
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 2.15%, ดัชนี S&P500 ลดลง 1.7% และดัชนี Nasdaq ลดลง 1.61%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6%
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 11 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย. 2553 หลังจากดีดตัวขึ้น 7.8% ในเดือนก.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 6.3% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนส.ค. 2557
นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์กล่าวในวันศุกร์ว่า เงินเฟ้อในสหรัฐจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปีนี้ แต่จะปรับตัวลงในปีหน้า ขณะที่แนวโน้มมีความเสี่ยงในช่วงขาขึ้น
นางเมสเตอร์ได้กล่าวสนับสนุนให้เฟดเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้ แม้สหรัฐมีการจ้างงานที่อ่อนแอในเดือนส.ค.ก็ตาม
ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ถูกกดดันจากการที่หุ้นแอปเปิลร่วงลง 3.3% หลังศาลสหรัฐตัดสินคดีเกี่ยวกับแอปสโตร์ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับบรรดาผู้พัฒนาแอป
หุ้นบริษัทผลิตแอป อาทิ หุ้นสปอติฟาย เทคโนโลยี บวก 0.7% ขณะที่หุ้นแอคทิวิชัน บลิซซาร์ด และหุ้นอิเล็กทรอนิค อาร์ต ปรับตัวขึ้นราว 2%
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดลดลง นำโดยหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มสาธารณูปโภคซึ่งปรับตัวลงมากกว่า 1%
หุ้นตีตี โกลบอลของจีนซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ร่วงลง 5% หลังเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนแจ้งกับบรรดาบริษัทที่ให้บริการรถรับส่งให้ทำการปรับปรุงการจ่ายรายได้และรับประกันเวลาหยุดพักของพนักงาน
ราคาหุ้นโกรเซอร์ โครเกอร์ ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่สุดของสหรัฐเมื่อพิจารณาจากรายได้นั้น ร่วงลงเกือบ 8% หลังเปิดเผยว่า ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก, ต้นทุนการขนส่ง รวมถึงการให้ส่วนลดและสินค้าที่สูญเสียนั้น จะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัท
บรรดานักลงทุนจะจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันอังคารที่ 14 ก.ย.นี้ เพื่อยืนยันทิศทางของภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ รวมถึงการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย.นี้ เพื่อดูว่า เฟดจะส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมครั้งนี้หรือไม่